Buddhist Study   พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน    

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ

        นื่องจาก พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ในการศึกษา พระไตรปิฎก   เพราะถือว่าเป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้า   แต่ก็เข้าใจได้ยากถ้าปราศจากการชี้แนะ    ทางเราเห็นว่าหนังสือ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" โดย  Nina Van Gorkom (แปลโดย  ดวงเดือน   บารมีธรรม) ของ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการปูพื้นฐานก่อนจะศึกษาพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้งต่อไป   จึงขอนำมาเสนอไว้นะที่นี้   
โดยจะทยอยลงทีละบทโดยไม่ตัดทอน จนครบทั้ง 24 บท  ดังต่อไปนี้

สารบัญ

คำนำ
1.   ปรมัตถธรรม 4
2.   ขันธ์ 5
3.   ลักษณะประการต่างๆของจิต
4.   ลักษณะของโลภะ
5.   โลภะขั้นต่างๆ
6.   ลักษณะของโทสะ
7.   อวิชชา
8.   อเหตุกจิต
9.   อเหตุกจิตที่ไม่มีใครรู้ในชีวิตประจำวัน
10.  จิตขณะแรกในชีวิต
11.  ปฏิสนธิจิตประเภทต่างๆ
12.  กิจของภวังคจิต
13.   กิจของจิตที่เป็นปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี
14.  ชวนกิจ
15.   กิจของตทาลัมพณจิตและจุติจิต
16.  อารมณ์และทวาร
17.  ทวารและวัตถุที่เกิดของจิต
18.  ธาตุ
19.  โสภณจิตในชีวิตของเรา
20.  ภูมิของสัตว์
21.  สมถภาวนา
22.  ฌานจิต
23.  โลกุตตรจิต
24.  การตรัสรู้อริยสัจจธรรม

 

คำนำ

พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก   คือ  พระวินัย (ระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ)   พระสูตร  และพระอภิธรรม

ทั้งสามปิฎกเป็นแหล่งบันดาลใจให้เราอาจหาญร่าเริงที่จะประพฤติ   ปฏิบัติธรรมเพื่อดับความเห็นผิดและกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด

พระธรรมวินัยทั้งสามปิฎกสอนให้เราเข้าใจ   "ธรรมะ"  คือ ทุกอย่างที่มีจริง    การเห็นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง   เป็นสิ่งที่มีจริง    สีเป็นธรรมอย่างหนึ่ง   เป็นสิ่งที่มีจริง    ความรู้สึกเป็นธรรมอย่างหนึ่ง   เป็นสิ่งที่มีจริง    กิเลสเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม   พระองค์ทรงประจักษ์แจ้งธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง   พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อเราจะได้ประจักษ์แจ้งสัจจธรรมตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับพระองค์

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม   เราก็ไม่รู้เรื่องสภาพธรรม   เรามักยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง   สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข   สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน    จุดประสงค์ของพระไตรปิฎก   คือ  สอนให้อบรมเจริญมัคค์ 8 ซึ่งนำไปสู่ความดับกิเลส

พระวินัยปิฎกเป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเพื่อดำเนินชีวิต "พรหมจรรย์"    จุดมุ่งหมายของชีวิตพรหมจรรย์   คือ  การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

ไม่เพียงแต่ภิกษุเท่านั้น   แม้คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาพระวินัย    มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า   มีภิกษุที่หันเหจากชีวิตพรหมจรรย์    เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น   พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อป้องกันพระภิกษุไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท    ขณะที่ศึกษาพระวินัยก็เตือนสติให้รู้โลภะ   โทสะ  โมหะ ของเราเอง    สภาพธรรมเหล่านั้นมีจริง   ตราบใดที่สภาพธรรมเหล่านั้นยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท   สภาพธรรมเหล่านั้นจะเกิดเมื่อใดก็ได้    พระวินัยเตือนให้รู้ว่ากิเลสเหนียวแน่นเพียงใด และนำไปสู่โทษภัยอะไร เมื่อพิจารณาอย่างนี้   เราก็จะเร่งรีบอบรมเจริญมัคค์มีองค์ 8   ซึ่งนำไปสู่ความดับความเห็นผิด   ความริษยา  ความตระหนี่   ความสำคัญตน  และกิเลสอื่นๆ

พระสูตรเป็นเรื่องราวต่างๆ ของบุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6  กรรมและวิบาก   และหนทางซึ่งนำไปสู่ความดับทุกข์

พระอภิธรรมเป็นปิฎกที่กล่าวถึงสภาพธรรมทั้งปวงอย่างละเอียด    คำว่า "อภิ"  หมายถึง "ยิ่งใหญ่"    ฉะนั้น "อภิธรรม" หมายถึง "พระธรรมที่ยิ่งใหญ่"    การแสดงธรรมในพระอภิธรรมปิฎกแม้จะต่างจากสองปิฎก   แต่จุดมุ่งหมายก็เหมือนกัน คือ   เพื่อการดับความเห็นผิดและดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท    ฉะนั้น   เมื่อเราศึกษาสภาพธรรมซึ่งจำแนกเป็นประเภทต่างๆ   ก็ไม่ควรลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม    ปริยัติธรรมเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประจักษ์แจ้ง
สัจจธรรม (ปฏิเวธ)    ขณะที่ศึกษาและไตร่ตรองนามธรรมและรูปธรรมนั้น   สติอาจเกิดขึ้นระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้ด้วยหนทางนี้เราก็จะรู้ว่าพระอภิธรรมเป็นเรื่องทุกอย่างที่มีจริง   นั่นก็คือ   โลกที่กำลังปรากฏทางทวาร 6

จุดมุ่งหมายที่เขียนหนังสือเล่มนี้   คือ   เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาพระอภิธรรม    ดิฉันหวังว่า   แทนที่ท่านผู้อ่านจะท้อใจที่เห็นตัวเลขและคำภาษาบาลีมากมาย   ก็คงจะหันมาสนใจสภาพธรรมที่ปรากฏที่ภายในและรอบๆท่านผู้อ่านเอง

คุณสุจินต์  บริหารวนเขตต์   ได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจอย่างมากให้ดิฉันได้ศึกษาพระอภิธรรม
คุณสุจินต์ส่งเสริมให้ดิฉันรู้ด้วยตนเองว่า   พระอภิธรรมเป็นเรื่องสภาพธรรมที่รู้ได้   ทางตา  ทางหู  ทางจมูก   ทางลิ้น  ทางกาย  และทางใจ    ดิฉันจึงได้ตระหนักว่า   การศึกษาพระอภิธรรมนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆตลอดชีวิต    ดิฉันหวังว่าท่านผู้อ่านจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน   มีความกระตือรือร้นและความสุขใจทุกครั้ง ที่ได้ศึกษาสภาพธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง

ดิฉันยกข้อความในพระสูตรหลายแห่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า   คำสอนในพระอภิธรรมไม่ต่างจากคำสอนในปิฎกอื่นๆ      ข้อความที่ยกมา   ส่วนใหญ่จากพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษ   ฉบับแปล ของสมาคมบาลีปกรณ์    ส่วนข้อความจากวิสุทธิมัคค์   ดิฉันใช้ฉบับแปลของท่านพระภิกษุญาณโมลี (โคลัมโบ  ประเทศศรีลังกา 2507)

ท่านพระภิกษุธัมมธโร (แอแลน   ไดรเวอร์)   ได้ช่วยแก้ไขและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเขียนหนังสือเล่มนี้   ด้วยความอนุเคราะห์อย่างขันแข็งจากท่าน   การเรียบเรียงและการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้จึงสำเร็จได้


                      นีน่า   วัน  กอร์คอม                                           

2518

                      กรุงเฮก   เนเธอร์แลนด์


ดูสารบัญ

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

Click Here!