Buddhist Study       

home     หนังสือธรรมะ        พระไตรปิฎก     ปัญหาถาม-ตอบ   อ่านหนังสือธรรมะ

ปัญหาถาม-ตอบจากหนังสือธรรมะ


สารบัญ

กรุณาคลิกที่คำถามเพื่ออ่านคำตอบ

  1. พระพุทธศาสนาจะมีอายุแค่ 5000 ปีจริงหรือ   และพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนมีกี่พระองค์   ชื่ออะไรบ้าง?
  2. สัตว์โลกตายแล้วไปไหน   และอะไรตาย?
  3. ผีมีจริงหรือไม่?
  4. เราสามารถทำบุญ   อุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้อื่นได้หรือไม่?
  5. บาป  บุญ  มีจริงไหม   จะเชื่อได้อย่างไร?
  6. สัตว์ดิรัจฉานทำบุญ   ทำบาปได้หรือไม่?
  7. ชาติหน้ามีจริงหรือ   มีอะไรพิสูจน์แสดงให้เห็นว่ามีจริง?
  8. การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่   มีอาจารย์บางท่านให้ฝึกสมาธิจนได้ปฐมฌานก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้แล้วจึงมีผล?
  9. หนีกรรมหรือตัดกรรมได้หรือไม่?
  10. การให้ทานกับการทำบุญนั้น   มีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่   ถ้าไม่เท่าเพราะเหตุใด?
  11. การฝึกมโนมยิทธิกับการสะกดจิตนั้น ต่างกันอย่างไร   การที่จิตเห็นกายพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์ เป็นภาพนิมิตนั้น เป็นการฝึกอย่างถูกต้องหรือไม่ อยู่ในหลักการสะกดจิตหรือมโนยิทธิหรือเปล่า?
  12. การทำสมาธิหากทำได้ถึงขั้นหนึ่ง   เช่น  อัปนาสมาธิ   จะเกิดปัญญาขึ้นเองได้   ใช่หรือไม่?
  13. จิต  คืออะไร?
  14. วิปัสสนา  คืออะไร?
  15. เจตสิก  คืออะไร?
  16. ทำอย่างไรจึงจะแก้ความหลงลืมได้?
  17. เราจะพิจารณาด้วยตนเองได้ไหมว่า   พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว?
  18. การเจริญสติปัฏฐานจะต้องมีศีล   สมาธิ  ปัญญา   สมาธิอันนี้จะหมายความว่าอย่างไร?
  19. การรับประทานอาหารมังสวิรัติ และการกินเจนั้นจำเป็นแค่ไหน   ถ้าไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้หรือไม่?

 


1.  พระพุทธศาสนาจะมีอายุแค่ 5000 ปีจริงหรือ   และพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนมีกี่พระองค์   ชื่ออะไรบ้าง?

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตมีมากมายนับไม่ถ้วน   แม้แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้   ขณะที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี   ก็ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 24 พระองค์   ผู้สนใจชื่อของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ   จะอ่านเองได้จากพระไตรปิฎก   ขุททกนิกาย  อปทาน  เป็นต้น

สำหรับคำพยากรณ์ที่ว่า   พุทธศาสนาจะมีอายุ 5000 ปีนั้น   มีกล่าวไว้ในทุติยสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยปิฎก   แต่ถ้าพิจารณาถึงเหตุการณ์ของโลกจะเห็นได้ว่า   ยุคนี้ยังไม่ถึง 5000 ปี  เพียง 2500 กว่าปี   มีผู้ศึกษาพุทธศาสนามากหรือน้อย   ซึ่งเราก็พอจะพิจารณาได้ว่าพระพุทธศาสนาจะคงอยู่ถึง 5000 ปีหรือไม่

พระพุทธศาสนาจะค่อยๆ อันตรธานไปตามลำดับของพระไตรปิฎก   คือพระอภิธรรมปิฎกคัมภีร์สุดท้ายคือ   "คัมภีร์ปัฏฐาน"   ซึ่งแสดงปัจจัยของสภาพธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด   ลึกซึ้งมาก  จะอันตรธานก่อน   และถอยไปเรื่อยๆ จนถึงพระสุตตันตปิฎก   จนถึงพระวินัยปิฎก

พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อมีผู้ศึกษาและเข้าใจพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง   ถ้ามีพระไตรปิฎกและอรรถกถา   แต่ไม่มีใครศึกษา   ไม่มีใครเข้าใจพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงไว้เลย   ก็ไม่ชื่อว่าพระพุทธศาสนายังดำรงอยู่

ดังนั้นพระพุทธศาสนาจะเสื่อมจากพระธรรมก่อน   แล้วพระวินัยจึงเสื่อม   จนถึงกาลสมัยที่ภิกษุจะมีแต่เพียงผ้ากาสายะพันคอหรือห้อยหูเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นบรรพชิตเท่านั้นเอง   แต่ความเป็นบรรพชิตที่แท้จริงนั้นมิได้อยู่ที่ผ้ากาสายะ   แต่อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

2.   สัตว์โลกตายแล้วไปไหน   และอะไรตาย?

สัตว์โลกตาย  เมื่อจิต   เจตสิก   ขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับลงพร้อมกัมมชรูป   (รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน)   ทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นทันที   ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์   เมื่อสัตว์โลกตายแล้ว   กุศลกรรมหนึ่งหรืออกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไว้แล้ว   ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิหนึ่งภูมิใดใน 31 ภูมิ

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


3. ผีมีจริงหรือไม่?

โดยมากเข้าใจว่าตายแล้วเป็นผี   แต่ความจริงนั้น   ทันทีที่จุติคือจิตสุดท้ายทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้นดับ   ปฏิสนธิจิตคือจิตขณะแรกของชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น   แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตนั้นเป็นผลของกรรมใดที่ทำให้เกิดในภพภูมิใด   ถ้าเกิดในนรกก็ไม่มีใครมองเห็น   เมื่อไม่เห็นสัตว์นรกก้ไม่กล่าวว่าเห็นผี   แต่ถ้าเกิดในภูมิที่สามารถจะปรากฏกายให้เห็นได้   คือขณะที่เห็นบุคคลที่ตายไปแล้วปรากฏร่างเหมือนที่เคยมีชีวิตอยู่ก็เข้าใจว่าเห็นผี   ความจริงเทวดาก็ปรากฏให้เห็นได้เหมือนกัน   แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าผีหรือเปล่า   หรือจะเรียกว่าผีเฉพาะผู้ที่ตายแล้วเกิดเป็นเปรตและอสุรกายเท่านั้น

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

4. เราสามารถทำบุญ   อุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้อื่นได้หรือไม่?

บุญคืออะไร  อย่าลืมว่า   บุญคือขณะจิตที่ดีงาม   เมื่อรู้เห็นคนอื่นทำกรรมดี   ก็พลอยยินดีอนุโมทนาด้วยที่เขาทำกุศล   จิตที่พลอยยินดีอนุโมทนาด้วยนั้นเป็นกุศลจิต   บางคนไม่อนุโมทนากุศลของคนอื่น   เพราะริษยาก็เป็นได้   การอุทิศส่วนกุศลให้ใครก็เพื่อให้ผู้นั้นรู้   เพื่อผู้นั้นจะเกิดกุศลจิตอนุโมทนา   กุสลจิตที่อนุโมทนาเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง   ซึ่งกุศลนั้นเองจะเป็นเหตุให้เขาได้รับผลคือวิบากจิตที่ดีเกิดขึ้น   ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น   แต่การที่เราทำกุศลเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย   ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วยขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา   ไม่ใช่ของเรา

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

5. บาป  บุญ   มีจริงไหม   จะเชื่อได้อย่างไร?

บาป  คือ  อกุศลกรรม   เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี   ไม่งามและให้โทษ   บุญ  คือ   กุศลธรรม   เป็นสภาพที่ดีงามเป็นประโยชน์   ไม่เป็นโทษกับใครเลย   ฉะนั้นถ้าไม่มีจิต   บาปบุญก็ไม่มี  ภูเขา   ก้อนหิน  กรวดทราย  ต้นไม้   ไม่มีบุญไม่มีบาปเพราะไม่มีจิต   คิดไม่ได้  ทำอะไรไม่ได้   ฆ่าสัตว์ไม่ได้   ลักทรัพย์ไม่ได้   บุญ   บาปจึงเป็นสภาพของจิต   ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ดีจึงเป็นบุญ   ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดีจึงเป็นบาป   ไม่มีใครจะสามารถเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา   แต่ว่าสามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตได้   เพราะทุกคนมีจิตและทุกคนก็เพียงแต่รู้ว่ามีจิต     เมื่อไม่ศึกษาโดยละเอียดก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจิตอยู่ที่ไหน   ขณะเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง   ขณะได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง   ขณะได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง   ชณะลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง   ขณะที่รู้เย็นบ้าง   รู้ร้อนบ้าง   รู้แข็งบ้างก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง   ชณะคิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง   และควรพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกว่าจิตเห็นเป็นบาปหรือเปล่า   จิตเห็นเพียงเห็น   ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต   จิตได้ยิน  จิตได้กลิ่น   จิตลิ้มรส   จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่ใช่กุศลจิตและไม่ใช่อกุศลจิต   แต่ขณะที่เห็นแล้วชอบ   ขณะชอบเป็นโลภมูลจิต   เป็นอกุศลจิตซึ่งจะใช้คำว่าบาปก็ได้   เพราะเป็นจิตที่มีกิเลสไม่ผ่องใส   มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้ติด   พอใจ  ยินดี  ปราถนา   ต้องการสิ่งที่เห็น   สิ่งที่ได้ยิน  เป็นต้น    ขณะนั้นจึงเป็นอกุศล   ขณะใดเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วไม่ชอบ   ขณะนั้นก็เป็นโทสะ   เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองไม่พอใจ   ขณะนั้นก็เป็นอกุศล   ฉะนั้นเมื่อจิตมีจริง  บาป   บุญก็มีจริง   และจิตก็มีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต   ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต   ขณะนั้นเป็นบาป  จึงมีจริง    ขณะใดที่เป็นกุศลจิต   ขณะนั้นก็เป็นบุญจึงมีจริง

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


6. สัตว์ดิรัจฉานทำบุญ   ทำบาปได้หรือไม่?

เมื่อมีจิตก็ต้องมีกุศลจิตและอกุศลจิตด้วย   แล้วแต่ว่าอกุศลจิตจะเกิดมาก   หรือกุศลจิตจะเกิดมาก    กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น   กุศลจิตย่อมเกิดได้น้อยกว่าภูมิมนุษย์   ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นอกุศล

 

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

7. ชาติหน้ามีจริงหรือ   มีอะไรพิสูจน์แสดงให้เห็นว่ามีจริง?

ชาตินี้มีจริงไหม   เมื่อชาตินี้มีจริงได้   ชาติหน้าก็ย่อมมีจริงได้   เวลาคิดถึงชาติหนึ่งๆก็คิดถึงระยะยาว   คือ   ตั้งแต่เกิดมาชีวิตก็ล่วงไปเป็นวัน   เป็นเดือน  เป็นปี   เป็นยี่สิบสามสิบปีต่อๆไปจนตาย   ก็นับว่าเป็นชาติหนึ่ง   แต่ทำไมจึงไม่ถอยให้สั้นกว่าปี   เดือน  วัน   จนถึงขณะเมื่อกี้นี้กับขณะเดี๋ยวนี้ซึ่งไม่ใช่ขณะเดียวกัน   แสดงให้เห็นว่าแต่ละขณะนั้นล่วงไป   ดับไป  สิ้นไปเร็วที่สุด    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อกันทีละหนึ่งขณะ   เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าหมดเชื้อหมดปัจจัยที่จะทำให้จิตต่อไปเกิดขึ้น   เช่น   ขณะเมื่อกี้นี้หมกสิ้นไปแล้ว   ใครจะเรียกร้องให้นามธรรมและรูปธรรมที่ดับไปเมื่อกี้นี้กลับคืนมาไม่ได้เลย   สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว   การเกิดขึ้นแล้วดับไปของรูปธรรมและนามธรรมแต่ละขณะนั้นเป็นเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

ขณะเมื่อกี้นี้มีจึงทำให้ขณะนี้มี   และเมื่อวานนี้มีวันนี้จึงมีฉันใด   วันนี้มี   พรุ่งนี้ก็มีฉันนั้น   เพราะวันนี้เป็นปัจจัยของวันพรุ่งนี้   ถ้าวันนี้ไม่มี   พรุ่งนี้ก็ไม่มี   เพราะฉะนั้นเรื่องชาตินี้ชาติหน้าก็เหมือนกับเรื่องวันนี้และพรุ่งนี้   ถ้านึกไปไกลถึงชาติหน้าก็จะทำให้สงสัยและพิสูจน์ไม่ได้   แต่ถ้ากลับมาพิสูจน์ขณะที่สั้นที่สุดใกล้ที่สุดคือขณะนี้   ก็จะรู้ความจริงของทุกๆขณะได้   และจะทำให้หมดความสงสัยในสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งปรากฏเป็นชีวิตแต่ละขณะ   เพราะไม่ว่าชาติก่อน   ชาตินี้  หรือชาติหน้า   สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยทั้งสิ้น   ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

ที่เราเกิดมานี้ก็เพราะความไม่รู้   เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะเกิดวันไหน   ถ้าเลือกวันเกิดได้ก็เลือกวันตายได้   เพราะเมื่อตายจากชาติก่อน   คือเมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับไปแล้ว   ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป   คือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น   เป็นจิตขณะแรกของชาตินี้   ซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนทันที   ไม่มีระหว่างคั่นเลย   เหมือนกับจิตทุกขณะของวันนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

จิตทุกขณะในปัจจุบันชาตินี้เกิดดับสืบต่อกันฉันใด   เมื่อจุติจิตของชาตินี้ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อเป็นชาติหน้าทันทีฉันนั้น   ไม่มีใครบังคับจิตนิยามซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตได้   วิสัยของจิตที่เกิดดับนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

ฉะนั้นเมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด   จิตก็ต้องเกิด   ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้นต้องเกิดอีกแน่นอน   ถึงแม้ว่าไม่รู้ก็ต้องเกิด   เหมือนชาตินี้ก็ไม่รู้   แต่ก็ต้องเกิดมา   ไม่ใช่ว่าอยากจะเกิดที่ไหนวันไหนก็เกิดได้   แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดเมื่อไหร่ที่ไหนก็เกิดเมื่อนั้นที่นั้น

จิตเป็นนามธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว   จึงไม่สามารถเอามาเข้าห้องทดลองพิสูจน์อย่างวิทยาศาสตร์ได้   แต่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของจิตได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา   ตามหนทางที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

8. การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่   มีอาจารย์บางท่านให้ฝึกสมาธิจนได้ปฐมฌานก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้แล้วจึงมีผล?

การอบรมเจริญภาวนา   ทั้งการอบรมเจริญความสงบซึ่งเป็นสมถภาวนา   และการอบรมเจริญปัญญาคือวิปัสสนาภาวนา   ต้องอาศัยปัญญาจึงจะเจริญได้   เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่ต่างกันระหว่างกุศลจิตและอกุศลจิต   ก็ย่อมจะเจริญสมถะคือความสงบหรือวิปัสสนาไม่ได้   ทุกคนมีจิตแต่ไม่เคยพิจารณาจิตขณะนี้   เพราะมักจะพิจารณาแต่สิ่งที่ปรากฏภายนอก   เช่น  ดูบุคคลนั้นบุคคลนี้   ลืมคิดว่าจิตที่กำลังเห็นบุคคลอื่น   คิดถึงบุคคลอื่นในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล    ฉะนั้น   การอบรมเจริญความสงบของจิต   จึงต้องมีสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้เสียก่อน   แล้วจึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบหรือที่เป็นวิปัสสนาได้    ข้อสำคัญที่สุด   จะต้องทราบว่า   ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคก็มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิตถึงขั้นอรูปฌานขั้นสูงสุด   คือขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน   แต่ไม่ใช่หนทางดับกิเลส   ไม่ใช่หนทางดับทุกข์   เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว   ทรงดับกิเลสแล้ว   จึงทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์บุคคลอื่นให้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม   ดับกิเลสได้   ฉะนั้น   การอบรมเจริญสมถภาวนาจึงเป็นการเจริญกุศลจิตซึ่งสงบจากอกุศลจนจิตสงบมั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ   การเจริญสมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   แต่การอบรมเจริญวิปัสสนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสนั้น   มีเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงหนทางไว้แล้ว    ฉะนั้น   ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนา   ทั้งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน   ตลอดมาจนถึงสมัยนี้และทุกสมัย   จึงไม่จำเป็นต้องอบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นของฌานจิต   แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เจริญกุศลขั้นสมถะ   เพราะเหตุว่ากุศลทุกขั้นควรเจริญ   กุศลขั้นทานก็ควรเจริญ   กุศลขั้นศีลก็ควรเจริญ   กุศลขั้นความสงบก็ควรเจริญ   คือ  มีเมตตา  กรุณา   มุทิตา   และอุเบกขาต่อบุคคลอื่น   ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค   คุณของพระธรรม   คุณของพระสงฆ์   ระลึกถึงคำสอนที่ทำให้จิตใจพ้นจากความโลภ   ความโกรธ  ความหลง   ในขณะนั้นก็เป็นกุศลขั้นความสงบ   เป็นการอบรมเจริญสมถะในชีวิตประจำวัน   ไม่ใช่ขั้นพากเพียรให้ความสงบเพิ่มขึ้นจนเป็นฌานจิตแต่ละขั้น   ซึ่งเป็นการยากแสนยากที่ใครจะสามารถอบรมจิตให้สงบจนเป็นฌานจิตได้   ถ้าใครใคร่จะเจริญความสงบจนถึงขั้นฌานจิต   ชาตินี้ก็ยากที่จะถึงได้   เมื่อพากเพียรที่จะให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิต   ก็ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา   เมื่อศึกษาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า   การอบรมเจริญวิปัสสนานั้น   เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถรู้ชัดประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้   คือขณะที่กำลังเห็น   กำลังได้ยิน  กำลังคิดนึก   กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะนี้นั่นเอง

ฉะนั้น  ที่ถามว่า   การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นจะต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่   ก็ขอเรียนให้ทราบตามมหาสติปัฏฐานสูตรว่าไม่จำเป็น   เพราะเหตุว่า   เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง   ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล   ไม่ใช่ตัวตน  เป็นอนัตตา
สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด   ได้ยินขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา สติจะต้องระลึกศึกษาจนกว่าจะรู้ชัด   ขณะที่กำลังคิดนึกไม่ใช่ตัวตน   เป็นจิตที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ   จิตแต่ละขณะแต่ละประเภทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา    สติจะต้องระลึกรู้จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้ง   สำหรับที่ว่ามีอาจารย์บางท่านให้ฝึกทำสมาธิจนได้ปฐมฌานก่อนจึงสามารถจะปฏิบัติธรรมได้และจึงจะมีผลนั้น   ก็ขอให้พิจารณาลักษณะของจิตที่สงบด้วยสติสัมปชัญญะ   จนกว่าจะรู้ว่าลักษณะของจิตที่สงบเป็นกุศลต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไรเสียก่อน   และรู้ว่ามีหนทางอย่างไรที่จะเจริญอบรมให้ความสงบนั้นเพิ่มขึ้น   จนเป็นความสงบที่มั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ   ซึ่งยังไม่ถึงปฐมฌาน   ซึ่งก็จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ   จึงจะรู้ได้ถูกต้อง   และถ้าสติปัฏฐานเกิดแทรกคั่นในระหว่างนั้น   ก็จะเห็นได้ว่าสติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้แม้ว่าปฐมฌานไม่เกิด    เพราะฉะนั้น   ไม่ว่าจิตไม่สงบหรือสงบก็ตาม   เมื่อสติเกิดขึ้นขณะใด   ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นตามความเป็นจริง   จึงเป็นการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


9. หนีกรรมหรือตัดกรรมได้หรือไม่?

ไม่มีใครหนีผลกรรมที่ทำไว้แล้วได้ เช่น  เมื่อทำกุศลกรรมมาแล้ว   ถึงเวลากุศลกรรมจะให้ผล   แม้ไม่อยากได้ก็ต้องได้   ไม่อยากรวยก็ต้องรวย   อยู่ดีๆก็มีคนมาเชิญให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   แม้ไม่อยากเป็น   เขาก็เชิญให้เป็น   สำหรับผลของอกุศลกรรมก็โดยนัยเดียวกัน   กล่าวคือ   แม้ไม่อยากให้เกิดขึ้น   ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้ เช่น   ได้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหนักเบาต่างๆกันไป   ตามควรแก่กรรม (อกุศลกรรม) ที่ได้กระทำไว้แล้ว   เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ   หรือลงทุนค้าขายก็ประสบปัญหาขาดทุน   ล้มละลาย  เป็นต้น  

บางคนคิดว่าตนเองฉลาด   จึงพยายามจะทำความดีลบล้างความชั่ว   เช่น   ได้เงินมาหลายร้อยล้านด้วยการทุจริต   คอรัปชั่น   ก็นำเงินที่ได้แบ่งไปทำบุญกฐิน   ผ้าป่า  หรือ   บริจาคช่วยเหลือคนยากจน   ด้วยคิดว่าจะได้หักกลบลบหนี้กันไป   แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว   การให้ผลของกรรมมิได้ปะปนกันเลย   กรรมชั่วที่ได้กระทำไปเรียบร้อยแล้ว   ก็ต้องรับผลในส่วนของกรรมชั่วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ไม่ช้าก็เร็ว   ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า   ส่วนกรรมดีที่ได้กระทำก็รอโอกาสที่จะให้ผลต่อไป

แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถจะพ้นจากกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีตชาติ   ดังได้ทรงแสดงอกุศลกรรมในอดีตชาต อันเป็นเหตุให้พระองค์ประสบกับทุกขเวทนาต่างๆในพระชาตินี้    ตัวอย่างที่ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ   การที่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง 6 พรรษา   ทรงแสดงบุรพกรรมของพระองค์ดังข้อความใน   อรรถกถา  พุทธวรรคที่ ๑   พุมธปาทานว่า  "ก็ในกาลนั้น   เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ   ได้กล่าวกับพระกัสสปสุคตเจ้าว่า   การตรัสรู้ของสมณโล้นจักมีมาแต่ไหน   การตรัสรู้เป็นของยากยิ่ง   เพราะวิบากกรรมอันนั้น   เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง 6 ปี  จึงบรรลุพระโพธิญาณ ..."
(พระสูตร และอรรถกถาแปล   ขุททกนิกาย  อปทาน  เล่มที่๘ ภาคที่๑)

ด้วยวิบากกรรมนั้น   ทำให้พระองค์ปฏิบัติผิดอันเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทุกข์ทรมานพระวรกายอย่างยิ่ง   กว่าจะทรงทราบว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด   และมิใช่หนทางที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

จากหนังสือ "กรรม...คำตอบของชีวิต"   โดย  อัญญมณี  มัลลิกะมาส

Back to Top

 


10. การให้ทานกับการทำบุญนั้น   มีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่   ถ้าไม่เท่าเพราะเหตุใด?

บุญ   คือกุศลที่ชำระจิตใจให้สะอาด   ด้วยการกระทำทางกาย  ทางวาจา   ทางใจ   ฉะนั้น   ทานจึงเป็นบุญประเภทหนึ่ง   บุญมีหลายประเภท   ไม่ใช่แยกทานเป็นส่วนหนึ่ง   แล้วก็บุญเป็นอีกส่วนหนึ่ง    แต่บุญหรือ
ปุญญกิริยามีหลายอย่าง   และทานก็เป็นบุญประเภทหนึ่งนั่นเอง    ฉะนั้น   ที่สงสัยว่าการให้ทานกับการทำบุญนั้นมีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่   ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต   จิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล   และในการกระทำกุศลแต่ละครั้ง   แม้แต่การให้ทานแต่ละครั้งนั้น   อาจจะพิจารณาได้ว่า   จิตใจในขณะที่ให้แต่ละครั้งนั้นต่างกันหรือเปล่า   บางครั้งก็ให้ด้วยความเต็มใจที่จะให้   บางครั้งก็ให้ด้วยความรำคาญหรือไม่ค่อยเต็มใจ   หรือว่าจำเป็นที่จะต้องให้   รู้สึกเหมือนถูกบังคับกลายๆให้ให้ก็เป็นได้    ฉะนั้น   การที่กุศลใดจะมีอานิสงส์มากน้อยกว่ากันนั้น   ก็ขึ้นกับสภาพจิตซึ่งผ่องใสปราศจากอกุศลในขณะนั้นประการหนึ่ง   และอีกประการหนึ่ง   คือในขณะที่ทำกุศล   จะเป็นการให้ทานหรือบุญกุศลอย่างอื่น   เช่น   ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้มีความสะดวกสบายนั้นก็เป็นกุศล   แต่ถ้าหวังสิ่งตอบแทนขณะนั้น   กุศลก็ไม่มาก   เพราะมีอกุศลขั้น   แม้แต่เพียงหวังคำชม   คำสรรเสริญยกย่อง  หวังลาภ   หวังยศ  ก็เป็นอกุศล    ฉะนั้น   ที่กุศลจิตจะมีกำลังผ่องใส   มีอานิสงส์มากหรือน้อยนั้น   ก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะที่ทำบุญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น กุศลจิตเกิดตลอด   หรือว่ามีอกุศลเกิดคั่นด้วยความหวังผลหรือหวังสิ่งใดตอบแทนหรือไม่   ถ้ามีอกุศลคั่นก็เป็นกุศลที่ไม่มีกำลัง   อานิสงส์ก็ต้องน้อยกว่ากุศลซึ่งไม่มีอกุศลคั่น

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

 

Back to Top

 


11. การฝึกมโนมยิทธิกับการสะกดจิตนั้น ต่างกันอย่างไร   การที่จิตเห็นกายพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์ เป็นภาพนิมิตนั้น เป็นการฝึกอย่างถูกต้องหรือไม่ อยู่ในหลักการสะกดจิตหรือมโนยิทธิหรือเปล่า?

มโนยิทธิเป็นอิทธิฤทธิที่สำเร็จด้วยความสงบมั่นคงของจิตขั้นปัญจมฌาน   ซึ่งยากที่จะเกิดได้   จึงไม่เหมือนกับการสะกดจิต
ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญาให้สงบมั่นคงจนถึงขั้นปัญจมฌาน   ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน   และฝึกหัดอบรมคุณวิเศษคือจักษุทิพย์   เพียงแต่นั่งทำสมาธิแล้วเห็น   นรก  สวรรค์   ก็ไม่ใช่เหตุที่สมควรแก่ผล   พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว จะเห็นพระองค์ได้อย่างไร    จิต  เจตสิก  รูป ดับ ยังคงเหลือแต่พระบรมสารีริกธาตุ   ซึ่งยังไม่อันตรธานเท่านั้น    ฉะนั้น ในสมัยนี้ถ้าจะเห็นส่วนของพระผู้มีพระภาคก็จะเห็นได้แต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น   ไม่สามารถเห็นกายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

 

Back to Top

 


12.  การทำสมาธิหากทำได้ถึงขั้นหนึ่ง   เช่น  อัปนาสมาธิ   จะเกิดปัญญาขึ้นเองได้   ใช่หรือไม่?

การทำสมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งสัจจธรรมได้   เพราะไม่ได้อบรมเจริญเหตุ   คือ วิปัสสนาภาวนาจนสมบูรณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้   ผู้บำเพ็ญสมถภาวนาสามารถอบรมจิตให้สงบ   จนบรรลุอภิญญา  มีตาทิพย์   หูทิพย์  ระลึกชาติได้   และสามารถทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้   แต่สมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้   เมื่อกิเลสเกิดขึ้นครอบงำจิต   สมถภาวนาที่ถึงขั้นสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆได้ก็เสื่อม   อย่างไรก็ตาม   การเจริญสมถภาวนาที่เป็นสัมมาสมาธินั้น   เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งด้วยเหตุผล   ดังนี้

  1. สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์   ซึ่งได้แก่  เอกักคตาเจตสิก   เอกักคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็น สัมมาสมาธิ   เอกักคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็น มิจฉาสมาธิ    เมื่อทำสมาธิแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ   และจะเข้าใจผิดว่า   ขณะที่ต้องการให้จิตจดจ่อในอารมณ์ที่ต้องการนั้น   เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์   คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
  2. จะต้องไม่เป็น อภัพพบุคคล   คือ ผู้ไม่สามารถบรรลุฌานจิต   หรือโลกุตตรจิตได้    ส่วนผู้ที่เป็น ภัพพบุคคล   คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา   หรือวิปัสสนาภาวนา   อาจบรรลุฌานจิต หรือโลกุตตรจิตได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ :
    2.1  ไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น   คือ  ปฏิสนธิจิตเป็น  "ติเหตุกะ" (เป็นเหตุกบุคคล)   ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา   คือ   มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตด้วย   โดยมีเหตุ 3 เหตุ  คือ   อโลภะเจตสิก  อโทสะเจตสิก   และอโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก
    2.2  ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น   คือ   ไม่ได้กระทำอนันตริยกรรม 5 คือ   (1) ฆ่าบิดา  (2) ฆ่ามารดา  (3) ฆ่าพระอรหันต์  (4) ทำร้ายพระผู้มีพระภาคให้ห้อพระโลหิต   และ (5) ทำสังฆเภท  คือ ทำลายพระสงฆ์ให้แตกกันโดยไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน
    2.3  ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น   คือ  ไม่มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ 3   ได้แก่  อกิริยทิฏฐิ (ปฏิเสธการกระทำโดยเห็นว่าไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป)   นัตถิกทิฏฐิ (ปฏิเสธผลของบุญและบาป)   อเหตุกทิฏฐิ (ปฏิเสธเหตุ   เห็นว่าทุกอย่างไม่มีเหตุ   ไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น)
  3. จิตที่สงบจากอกุศลเป็นสมถภาวนานั้น   ต้องเป็นกุศลจิตในอารมณ์ 40   คือ  กสิณ 10  อสุภ 10  อนุสสติ 10  อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1   จตุธาตุววัฏฐาน 1  พรหมวิหาร 4   และอรูปฌานอารมณ์ 4

ฉะนั้น   การอบรมสมถภาวนาให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เพียงจดจ้องอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งตามที่ต้องการ   ก็จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุคตต์   ที่จะทำให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิได้    นอกจากนี้   หากเข้าใจผิดว่า   โลภะมูลจิตขณะนั้นเป็นมหากุศล   ก็จะทำให้คิดว่านิมิตต่างๆที่จิตปรุงแต่งนั้นเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต

ด้วยเหตุนี้   จึงควรศึกษาธรรมะให้เข้าใจ   เพื่อละคลายความยึดมั่นความเป็นสัตว์   บุคคล  ตัวตน   และเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญสติปัญญา   ไม่ใช่การอยากทำสมาธิ

จากหนังสือ  "ปรมัตธรรมสังเขป"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

 

Back to Top

 


13. จิต  คืออะไร?

คำถามนี้มีประโยชน์มาก   เพราะทุกคนรู้ว่ามีจิต   แต่ถ้าถามจริงๆว่า   เมื่อมีจิตแล้ว   ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน   ก็ยากที่จะตอบได้   เพราะยังไม่รู้ว่าจิตคืออะไร

จิตเป็นสภาพรู้  เป็นอาการรู้   เป็นลักษณะรู้  เป็นธาตุรู้    เพียงคำเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่ายากที่จะเข้าใจลักษณะของจิต   ทั้งๆที่ขณะนี้กำลังมีจิตซึ่งกำลังเป็นสภาพรู้   เป็นธาตุรู้  เป็นอาการรู้    แต่ถ้าเปรียบเทียบกับรูปธรรมซึ่งไม่รู้อะไรเลย   ก็ย่อมจะเห็นได้ว่าสิ่งที่วางอยู่ใกล้ตัว   ที่มีลักษณะแข็ง  เช่น  โต๊ะ   เก้าอี้  แก้วนํ้านั้น   ไม่ใช่สภาพรู้  เพราะไม่เห็น   ไม่ได้ยิน  ไม่ได่กลิ่น   ไม่ได้ลิ้มรส   ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส   ขณะจับถ้วยแก้ว   รู้ว่ามีสิ่งที่แข็งกำลังปรากฏ   สภาพที่กำลังรู้นั้น  คือ   จิต    แต่สภาพที่แข็งนั้นไม่รู้เลยว่ากำลังถูกสิ่งที่แข็งจับ    จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นมีมาตั้งแต่เกิด   ถ้าสภาพรู้ไม่มีก็เป็นแต่เพียงก้อนเนื้อเท่านั้น   ไม่เห็น  ไม่ได้ยิน   ไม่ได้กลิ่น  ไม่ได้ลิ้มรส   ไม่คิดอะไรเลย   แต่ขณะใดที่คิด   ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ที่กำลังคิด   ขณะใดที่กำลังได้ยินเสียง   เช่น  ในขณะนี้   จิตเป็นสภาพรู้ที่ได้ยิน   เสียงจึงปรากฏ    ถ้ารู้เพียงเท่านี้   แต่ไม่พิจารณาสภาพรู้ที่กำลังเกิดขึ้นรู้ทางตา   หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ ก็อาจจะคิดว่ารู้ว่ามีจิตแล้วก็พอแล้ว   แต่ว่าขณะไหนเป็นจิตทางไหนก็แยกไม่ออก    เพราะความเป็นจริงนั้น   ขณะเห็นก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง   ซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาสจะเห็น   ขณะได้ยินก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง   ซึ่งรู้ คือได้ยินเฉพาะเสียงเท่านั้น   คิดนึกไม่ได้

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


14.  วิปัสสนา   คืออะไร?

วิปัสสนา  แปลว่า  เห็นแจ้ง   ไม่ใช่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ   แต่เป็นการเห็นด้วยตาคือปัญญา   วิปัสสนาเป็นปัญญาขั้นภาวนา   ไม่ใช่ปัญญาขั้นการฟัง   ซึ่งเป็นขั้นปริยัติ (การศึกษา)   ไม่ใช่ปัญญาขั้นการคิดพิจารณา   ซึ่งก็มาจากขั้นการศึกษา   เพราะว่า   ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการศึกษาปริยัติ   จะมีปัญญาพิจารณาถูกต้องได้นั้น   ย่อมเป็นไปได้ยาก   แต่ปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา เป็นขณะที่มีสติเกิดขึ้นพร้อมกับปัญญา   ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ   และค่อยๆเข้าใจตามความเป็นจริง   คือนามธรรมมีลักษณะอย่างไร   ปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น   รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร   ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น   ไม่มีการสร้างหรือต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติแต่อย่างใดเลย    เป็นการอบรมเจริญปัญญาตามปกติในชีวิตประจำวัน   เพราะตามความเป็นจริงมีสภาพนามธรรมรูปธรรมปรากฏทางตา   ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น   ทางกาย  ทางใจบ่อยๆเสมอๆ   แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง   จึงทำให้ยึดว่าเป็นคนเป็นสัตว์   เป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

จากหนังสือ  "แด่ผู้บังเกิดเกล้าที่เรารัก"   โดย  อุบาสกผู้หนึ่ง

Back to Top

 


15.  เจตสิก   คืออะไร?

เจตสิก   เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่จิตแต่เกิดร่วมกับจิตแล้วก็ดับพร้อมกับจิต     เจตสิก ได้แก่  โลภะ   โทสะ  เป็นต้น    โทสะคือความโกรธ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง   โลภะคือสภาพที่ติดข้องต้องการ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง   แต่ทั้งโลภะและโทสะไม่ใช่จิต   จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่   เป็นประธานในการรู้อารมณ์ (สิ่งที่ถูกจิตรู้)   เช่น  การได้ยิน  เป็นต้น    ส่วนเจตสิกทั้งหลายนั้น   บางเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกประเภท   บางเจตสิกก็เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง ไม่เกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง   เช่น   โลภเจตสิกไม่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต   จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะพอใจติดข้องในอารมณ์   จิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะหยาบกระด้าง   ขุ่นเคือง  ไม่แช่มชื่น    จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย   และจิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นจิตต่างขณะต่างประเภท   เพราะประกอบด้วยเจตสิกที่ต่างกัน     เจตสิก เป็นนามธรรมต่างๆชนิดที่เกิดพร้อมจิต   ดับพร้อมจิต   ทำให้จิตต่างกันเป็น 89 ประเภท   หรือที่เรียกว่า 89 ดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือจิตที่โลกจักรวาลไหนๆทั้งสิ้น    พระผู้มีพระภาคได้ทรงประมวลและทรงจำแนกจิตทั้งหมดออกเป็น 89 ประเภท   ส่วนเจตสิกทั้งหมดนั้นมี 52 ประเภท   เจตสิกบางประเภทเกิดได้เฉพาะกับจิตที่ดีเท่านั้น   และเจตสิกบางประเภทก็เกิดได้เฉพาะกับจิตที่ไม่ดีเท่านั้น

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


16.  ทำอย่างไรจึงจะแก้ความหลงลืมได้?

ถ้าเป็นผู้ที่เจริญกุศลบ่อยๆ   และมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็คงจะพอแก้ไขได้   แต่ไม่ใช่อย่างรวดเร็วภายในวันสองวัน   บางคนอาจจะบอกว่า   ถ้าไปฝึกสมาธิก็จะทำให้มีสติมากขึ้น   ซึ่งสติในที่นี้คงจะหมายความว่า ลืมน้อยลง   แต่ขณะที่ทำสมาธินั้น สมาธิจะตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเร็วขึ้น   แต่สมาธิไม่ใช่สติ สติไม่ใช่สมาธิ   สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี   แต่สมาธิเป็นอกุศลก็ได้   เป็นกุศลก็ได้   แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด    ฉะนั้น   การเจริญสติจึงเป็นกุศล   ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ    แต่การทำสมาธินั้น   ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ย่อมเป็นมิจฉาสมาธิ   ทุกอย่างจะต้องค่อยๆแก้ไป   อย่าใจร้อน   และอย่าคิดว่าจะมีวิธีพิเศษซึ่งสามารถจะแก้ได้อย่างรวดเร็ว   แม้แต่การรักษาโรคก็จะต้องตัดที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ   ฉันใด   การละอกุศลธรรมซึ่งทุกคนสะสมมามากในสังสารวัฏ   จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ   ภายในสองเดือน สามเดือน ปีหนึ่ง ชาติหนึ่ง   แต่ต้องเป็นเวลานานนับไม่ได้ทีเดียว   เรื่องการหลงลืมก็เช่นเดียวกัน   ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอบรมธรรมฝ่ายกุศลมากขึ้นเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะแก้ได้   แต่ไม่ใช่โดยรวดเร็วทันใจ   เพราะไม่มียาวิเศษที่จะรักษาได้ทันที   ไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือยารักษาโรคใดๆก็ตาม

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


17.  เราจะพิจารณาด้วยตนเองได้ไหมว่า   พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว?

เคยได้ยินบางท่านบอกว่า   ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์เพราะท่านเดินกลางแดดแล้วท่านไม่หยีตา   เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ของแต่ละท่านอบรมเจริญปัญญาอย่างไร   ท่านรู้อะไรและท่านแสดงธรรมข้อปฏิบัติของท่านอย่างไร   มีคนหนึ่งพยายามทำเป็นพระอรหันต์อยู่ 3 วัน  ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ เฉยๆ ไม่ตกใจ ไม่ทำอะไร   มองดูอาการภายนอกคนอื่นก็เชื่อว่าพระอรหันต์คืออย่างนั้น    แต่พระอรหันต์ไม่ใช่อยู่ที่ไม่หัวเราะ หรือว่าไม่ยิ้ม หรือว่าไม่หยีตากลางแดด   แต่พระอรหันต์นั้นท่านหมดกิเลสเพราะอบรมเจริญปัญญารู้อะไร   ท่านปฏิบัติอย่างไร   และท่านแสดงหนทางที่ท่านปฏิบัติอย่างไร   เพื่อให้บุคคลอื่นได้เกิดปัญญาด้วย   พระอรหันต์ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญา   เพราะก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์นั้นต้องเป็นปุถุชนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส   ความไม่รู้   และความเห็นผิดในสภาพธรรม ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด   ก็ไม่มีทางที่ใครสักคนหนึ่งจะมีปัญญาดับกิเลสได้   
ที่จะกล่าวว่าผู้นั้นผู้นี้รู้ขึ้นมาเองในเรื่องธรรมทั้งหลาย   เรื่องจิต  เรื่องเจตสิก   เรื่องรูป  เรื่องรูปขันธ์   เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์   สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์   เรื่องสังขารธรรมไม่เที่ยง   เกิดดับ   เรื่องการอบรมเจริญหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้เลย    ฉะนั้น  จึงต้องพิจารณาว่า   ถ้าผู้ที่ท่านเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นพระอรหันต์จริง   ท่านก็ต้องแสดงหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ผู้ฟังสามารถพิจารณาแล้วก็เกิดปัญญาได้ด้วย   ไม่ควรที่จะเชื่อหรือคิดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้รู้แจ้งธรรม   จนกว่าจะได้พิจารณาธรรมที่บุคคลนั้นกล่าวว่าถูกต้องตามเหตุผลหรือไม่

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


18.  การเจริญสติปัฏฐานจะต้องมีศีล   สมาธิ  ปัญญา   สมาธิอันนี้จะหมายความว่าอย่างไร?

สมาธิจริงๆได้แก่สภาพธรรมชนิดหนึ่ง   คือ  เอกัคคตาเจตสิก  "เจตสิก"   คือสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิต   แต่ไม่ใช่จิต

โลภะ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง   โลภะไม่ได้เกิดกับจิตตลอดเวลา
โทสะ  เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง   โลภะไม่ได้เกิดกับจิตตลอดเวลา
สมาธิ  ได้แก่  เอกัคคตาเจตสิก   ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง  คือ   ทุกขณะ    แต่ขณะที่เกิดกับอกุศลจิตนั้น   ไม่มีกำลังเท่ากับขณะเกิดกับกุศลจิตที่เจริญอบรมให้สงบขึ้นๆ   ฉะนั้น   ที่กล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องประกอบด้วยศีล  สมาธิ   ปัญญา   สมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิกนั้นไม่เคยขาดเลยสักขณะจิตเดียว   แต่ปัญญาไม่ได้เกิดทุกขณะอย่างสมาธิ    ฉะนั้น  จึงมีสมาธิ 2 อย่าง   คือ   สมาธิที่เกิดกับอกุศลจิตเป็น   "มิจฉาสมาธิ"   สมาธิที่เกิดกับโสภณหรือกุศลจิตเป็น   "สัมมาสมาธิ"   ซึ่งพุทธบริษัทในยุคนี้อาจจะขาดการพิจารณาเรื่องมิจฉาสมาธิ   เพราะว่าทุกคนอยากจะทำสมาธิ   แต่ลืมพิจารณาว่าสมาธิที่จะทำโดยขาดปัญญานั้นเป็นมิจฉาสมาธิ   ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

ฉะนั้น   อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะทำสมาธิ   เพราะเหตุว่ามีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ   ขณะใดที่ศึกษาเข้าใจและปัญญาเกิด   ขณะนั้นสมาธิจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ

ฉะนั้น   ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีสมาธิ   เพราะสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะอยู่แล้ว   แต่ควรพิจารณาระวังว่าจะเจริญมิจฉาสมาธิแทนสัมมาสมาธิ   เพราะไม่ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสัมมาสมาธิเสียก่อน   ฉะนั้นในขณะที่สติเกิดระลึกสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น   ไม่ใช่เป็นเพียงศีล   แต่เป็นอธิศีลสิกขา   พร้อมทั้งจิตที่สงบเพราะเป็นกุศลนั้นก็เป็นอธิจิตสิกขา   และปัญญาที่กำลังศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็เป็นอธิปัญญาสิกขาด้วย    ขณะนั้นเป็นศีลที่ละเอียดกว่าปกติที่รักษาศีล 5  เพราะศีล 5 นั้นเพียงแต่ไม่ล่วงทุจริตกรรม   แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ    ทุกคนมีโลภะ   อยากได้สิ่งที่ดี  สวยงาม   แต่ว่าละอายต่อการที่จะทำทุจริต   ขณะที่ยกเว้นไม่กระทำทุจริตกรรมนั้นก็เป็นศีล   เพราะไม่ได้ล่วงทุจริตทางกาย   วาจา  แต่ใจยังมีโลภะ   ยังมีความปราถนา   ยังมีความต้องการ   เพียงแต่ว่าขณะนั้นมีเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นวิรัติทุจริต   ทำให้เว้นไม่ทำทุจริตทางกายทางวาจาเท่านั้น   เพราะฉะนั้น   ขณะที่สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต   แม้ขณะที่กำลังเป็นโลภะ   ซึ่งยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม   ขณะนั้นสติย่อมประกอบด้วยศีลที่ละเอียดที่สามารถระลึกรู้แม้ลักษณะของความต้องการที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม   เพราะศีลธรรมดานั้นเพียงแต่เว้นกายทุจริต   วจีทุจริต   แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะสภาพของจิตขณะนั้นว่ามีความต้องการขั้นไหน   ซึ่งอาจจะเกือบๆกระทำกายทุจริตก็ได้

ฉะนั้น   สติปัฏฐานจึงประกอบพร้อมทั้งศีล   สมาธิ  ปัญญา   แต่เป็นขั้นละเอียด   จึงเป็นขั้นอธิศีลสิกขา   อธิจิตสิกขา   และอธิปัญญาสิกขา

อาจจะสงสัยว่าทำไมไม่มีคำว่าสมาธิ   แต่สภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยสัมมาสมาธิในขณะที่เกิดกับสติปัฏฐานนั้นเองเป็นอธิจิตสิกขา   ฉะนั้น  อธิจิตสิกขา ก็เป็นสมาธินั่นเอง   แต่เป็นสมาธิที่เกิดร่วมกับอธิศีลและอธิปัญญา

น่าคิดว่าขณะนี้กำลังมีศีลหรือเปล่า   ขณะนี้ไม่ได้กระทำกายทุจริต   วจีทุจริตก็จริง   แต่ว่าขณะนี้มีเจตนาที่จะวิรัติทุจริตอะไรหรือไม่   นี่เป็นความละเอียดของธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า   ไม่สามารถที่จะพิจารณานามธรรมได้เพียงจากอาการที่ปรากฏภายนอก   เพราะนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


19.  การรับประทานอาหารมังสวิรัติ และการกินเจนั้นจำเป็นแค่ไหน   ถ้าไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้หรือไม่?

พระผู้มีพระภาคทรงเสวยเนื้อเพราะว่ากลิ่นดิบไม่ใช่กลิ่นเนื้อ กลิ่นปลา   แต่กลิ่นดิบเป็นกลิ่นของกิเลส    ขณะนี้ทุกคนไม่ได้กลิ่นกิเลสเลย   คือไม่รู้ว่ากิเลสเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ   ทุกคนเพียงแต่ได้กลิ่นเนื้อดิบ   กลิ่นปลาดิบเท่านั้น   แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ากลิ่นดิบคือกิเลส    ฉะนั้น   ผู้ที่บริโภคอาหารเนื้อโดยอบรมเจริญปัญญาดับกิเลสเป็นสมุจเฉท   เช่นพระผู้มีพระภาคและพระอรหันต์ทั้งหลาย   จึงไม่มีกิเลส   ไม่มีกลิ่นดิบ   ฉะนั้น ควรรังเกียจกลิ่นกิเลส   ไม่ใช่รังเกียจกลิ่นของเนื้อสัตว์    ที่ถามว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติและการกินเจนั้นจำเป็นแค่ไหน   ก็ย่อมแล้วแต่บุคคล   บางท่านบริโภคแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี   ก็พอใจที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของร่างกาย   แต่ต้องพิจารณากิเลสในขณะที่กำลังกินเจ   หรืออาหารมังสวิรัติว่ารู้สึกติดพอใจในรสอร่อยไหม   ความติดความพอใจนั่นแหละเป็นกลิ่นดิบแล้ว   ฉะนั้น   จึงต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ   ไม่ใช่พิจารณาเพียงอาการที่ปรากฏภายนอกเท่านั้น   และที่ถามว่าถ้าไม่กินเจจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้หรือไม่นั้น   ตอบว่าได้   เมื่อพิจารณาจิตและสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top

 


 

home     หนังสือธรรมะ        พระไตรปิฎก     ปัญหาถาม-ตอบ   อ่านหนังสือธรรมะ

            20/09/01             

Click Here!