Buddhist Study   ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย  นีน่า  วัน   กอร์คอม   
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
   

 

home

ปัญหาถาม-ตอบ

หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก

ถาม-ตอบจากหนังสือ


   

สารบัญ

คำปรารภ
อารัมภกถา
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทที่ 5
บทที่ 6
บทที่ 7
บทที่ 8
บทที่ 9
บทที่ 10

 

                      ธรรมจาริกในศรีลังกา

                               คำปรารภ


ผมได้เริ่มเขียนคำปรารภนี้ในทันทีที่อ่านตรวจทานต้นฉบับที่ผมแปลจบลง   ที่ผมเขียนทันทีนั้นก็เพราะข้อความในตอนท้ายของเรื่องนี้ได้ทำให้ผมรีความรู้สึกซาบซ่านปิติ   แต่อดสะเทือนใจไม่ได้เลย   ต่อข้อความสั้น ๆ ตอนจบของคุณนีน่า
และขณะที่ผมกำลังเขียนคำปรารภนี้   ผมต้องถามตัวเองว่าทำไมผมจึงเกิดความปิติเช่นนี้ ผมคิดทบทวนแล้วก็ตอบตัวเองว่าผมได้เผลอปล่อยใจไปกับเหตุการณ์ตอนท้ายของเรื่อง ซาบซ่านกับกัลยาณมิตรและวาบหวิวกับการจะต้องจากทุกสิ่งทุกอย่าง   แล้วก็ถูกหักมุมให้รู้ถึงสภาพธรรมอันแท้จริงในท้ายที่สุดในตอนจบ (ผมขอประท่านโทษหากทานผู้อ่าน ไม่เกิดความรู้สึกลักษณะเดียวกับผม   ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผมมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวเกินไปก็ได้)

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ   ผมขอประทานอนุญาตท่านผู้อ่านขอพูดเรื่องตัวเอง   ความรู้สึกของตัวเอง   และประสบการณ์ของตัวเองในการปฏิบัติและศึกษาธรรมสักหน่อยเถิดครับ   เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับการอธิบายว่า   ทำไมผมจึงแปลหนังสือเล่มนี้ของคุณนีน่า   และทำไมผมจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีและจะเกิดประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน

ผมได้เริ่มต้นศึกษาและปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ด้วยเหตุบังเอิญขณะที่ผมได้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาลเมื่อได้มีอายุอานามดึกโขถึง ๕๓ ปีแล้ว   ผมได้ศึกษาธรรมสืบต่อมาอย่างจริงจังจากหนังสือธรรมต่างๆ   และได้ฝึกสมาธิจากหลายสำนักและหลายวิธี ได้มีประสบการณ์ทั้งที่น่าพึงพอใจ ทั้งที่ล้มเหลวไม่ได้ผล   และทั้งที่ประสบกับสำนักอันน่าจะก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นกับผู้ที่มีศรัทธาไปสู่สำนักนี้นด้วย   แต่แม้กระนั้นก็ตามผมก็คงศึกษาและฝึกกรรมฐานต่อไปอย่างสม่ำเสมอจากแหล่งต่าง ๆ โดยถือหลักตามที่ท่านผู้ทรงความรู้ในพระพุทธศาสนาอย่างสูงและมีพระคุณต่อผมผู้หนึ่ง ที่ไม่ยอมให้ผมเอ่ยนามของท่านได้เคยบอกผมว่า   เราควรทำตัวเป็นคนเก็บลูกพทราซึ่งมีคนขึ้นขย่มกิ่งให้   เราก็เลือกเก็บเอาตามที่เราชอบ ที่ไม่ชอบก็ไม่เก็บขึ้นมา   ผมจึงทำตัวในการศึกษาหาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา   แบบเดียวกับการเก็บพุทรานี้เป็นปกติเรื่อยมา

ตราบจนกระทั่งผมไปหมุนคลื่นวิทยุพบรายการธรรมที่สะดุดหูสะดุดใจผมเป็นอย่างยิ่งเข้าครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว   เสียงสุภาพสตรีผู้บรรยายธรรมสะดุดหูเพราะสุ้มเสียงใสชัดถ้อยชัดคำ   คำบรรยายก็แจ่มชัดเป็นจังหวะไม่ช้าไม่เร็ว   เต็มไปด้วยสาระที่เป็นแก่นสารจากพระพุทธพจน์   ผมจึงติดตามฟังต่อไปจนจบรายการ   เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นรายการอะไร และจะมีอีกเวลาใด จึงทราบว่า   เป็นรายการบรรยายธรรมเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา โดยอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์  จากสถานีวิทยุ สทร ๒ บางนา  เวลา ๓ ทุ่มกับ ๖ โมงเช้า ทุกวันเว้นคืนวันอาทิตย์   ผมจึงติดตามฟังทุกวันทั้งสองเวลา   พร้อมกับอัดเทปไว้แล้วไปเปิดฟังทบทวนต่อในขณะเดินทางไปทำงาน   และตอนเดินทางกลับบ้าน   ผมได้ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องหลายปี   ตอนฟังครั้งแรกๆ นี้น   ผมฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เมื่อฟังต่อไป ๆ   ท่านก็จะพูดทบทวนให้ค่อยๆ รู้เรื่องขึ้นเอง   สำหรับผมนี้นตอนใดที่ยากแม้จะไม่ค่อยรู้เรื่องนักก็ตามแต่ก็นับว่ามีประโยชน์แก่ผม   เพราะได้จุดความสนใจให้อยากรู้ขึ้นแล้ว   ผมก็จะไปศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน   ซึ่งท่านอาจรย์สุชีพ 
ปุญญานุภาพ   เป็นผู้จัดทำอันมีประโยชน์ยิ่งต่อผม  
นอกจากนั้นก็ศึกษาจากหนังสือธรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) และท่านเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศ   (ระแบบ ฐิตญาโณ)

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์นั้น   ผมรู้สึกว่ามีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ดีอย่างหนึ่งคือ   ท่านผสมผสานพระสูตรและพระวินัยเข้ากับพระอภิธรรมอย่างน่าสนใจและฟังสนุก   บางครั้งท่านก็เล่าเรื่องโดยอ่านบางตอนจากพระสูตรแล้วก็โยงเข้าสู่พระอภิธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ   บางครั้งท่านก็พูดถึงพระอภิธรรมแล้วก็ยกตัวอย่างจากพระสูตร   บางครังท่านก็นำพระวินัยในรายละเอียดมาอ่านให้ฟัง   และอธิบายในรายละเอียด แล้วจึงโยงเข้าสู่พระอภิธรรม   และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมเพลิดเพลินไปกับสำนวนภาษาจากพระโตรปิฏก ซึ่งแท้ที่จริงก็คือพระพุทธพจน์จากพระโอษฐ์ ของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั่นเอง   ผมได้รู้สึกรื่นรมย์กับวรรณศิลป์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า   ในขณะที่ท่านอาจารย์สุจินต์อ่านให้เราฟัง จนทำให้ผมอดนึกไม่ได้เลยว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐสุดจริง ๆ  ในความประณีตละเอียดละออ เต็มไปด้วยพระเมตตาธรรม และมีความละเมียดละไมในการใช้ภาษาที่แสนไพเราะและให้เกิดปัญญา

แต่แม้กระนั้นก็ตาม   เวลาผมฟังธรรมบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์   บางครั้งผมมีความรู้สึกว่ามีการกล่าวซ้ำ ๆ กันอยู่บ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า   จนผมรู้สึกเหมือนว่าท่านอาจรย์จงใจให้ผู้ฟังได้ฟังซ้ำฟังซากจนเจ้าไปอยู่ในสายเลือดกระนั้นแหละ   ทั้งนี้เพราะมันได้เกิดเช่นนี้นกับผม   จุดสำคัญที่ผมได้ก็คือ   เราจะต้องมีสติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในปัจจุบันว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล   ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพียงรูปและนามเท่านั้น    เดี๋ยวนี้ผมตระหนักแล้วอย่างจริงจังว่า    หากท่านอาจารย์สุจินต์ไม่มีเมตตาธรรมต่อผู้ฟังอย่างล้นเหลือ   หรือไม่มีความกล้าหาญมั่นคงอย่างมากจริง ๆที่จะสื่อความหมายอันสำคัญยิ่งนั้นแก่ผู้ฟัง   โดยไม่เสื่อมถอย หรือไม่มีความความเพียรที่จะกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้ฟังในเรื่องสำคัญยิ่งนี้นแล้ว    ผมรู้แน่แก่ใจว่าผมคงจะรู้แล้วก็ลืม    ยามที่รู้ก็รู้ด้วยปัญญาของสมองธรรมดา ๆ  ว่าทุกอย่าง
เป็นเพียงรูปนาม   ฟังแล้วก้เข้าใจและเชื่อด้วย   แต่แท้จริงแล้วก็หาได้รู้อย่างประจักษ์แจ้งไม่ ส่วนมากแล้วก็จะรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในสภาพของสมมุติบัญญัติว่า   เป็นโต๊ะ  เป็นเก้าอี้   เป็นเสียงเพลง  เป็นธรรม เป็นตัวเรา  เป็นตัวเขา   เป็นต้นไปหมด    ด้วยการย้ำจากอาจารย์สุจินต์   จากการถามคำถาม   และการแสดงความรู้สึกจากประสบการณ์ของผู้ฟังบางท่านทำให้ผมค่อย ๆเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความจริงที่เราสมมุติชื่อต่าง ๆขึ้น  ที่เรียกว่าสมมุติสัจจะ   กับความจริงอย่างแท้จริงอันเป็นปรมัตถสัจจะขึ้นมาตามลำดับ

ผมเรียนวิทยาศาสตร์และปริญญาอันแรกของผมเป็นทางด้านวิศวกรรม   ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ทุกสาขาวิชาจะเริ่มต้นจากข้อนิยามศัพท์ต่าง ๆ  เช่น  ของแข็ง  ของเหลว   แก๊ส ความร้อน  แสง  เสียง   ไฟฟ้า และศัพท์ในรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อีกมากมาย  จากนิยามเหล่านี้   เราจะสามารถศึกษาถึงกฏเกณฑ์เหตุผลต่าง ๆ   จนสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางกายภาพทั้งหลายได้    ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์    เมื่อผมได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์มาก ๆเข้า   และได้ศึกษาพระไตรปิฎกประกอบด้วยแล้ว   ผมมีความรู้สึกว่า   สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมเหนือนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย   เพราะได้ทรงตรัสรู้ที่สุดของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ทั้งปวง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ทางจิต   ซึ่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยังศึกษาไปไม่ถึง   ถ้าหากท่านผู้อ่านสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า พระบรมศาสดาได้ทรงเริ่มต้นจาการนิยามปรมัตถสัจจะ   และซอยย่อยไปนิยามในรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆของจิต  เจตสิก  รูปและนิพพาน    ตลอดจนเหตุปัจจัย และผลที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆทุกสิ่งทุกอย่างพระพุทธองค์ทรงอธิบายได้ด้วยเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาตร์   แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องเข้าใจธรรมของพระองค์   เข้าใจนิยามต่าง ๆ ตามธรรมของพระองค์   โดยไม่นำเอานิยามในทางโลกอันเป็นความจริงที่สมมุติเรียกชื่อขึ้นไว้มาปะปน   ตรงนี้เองที่เราจะต้องมีสติระลึกรู้สภาพธรรมหรือความจริงทั้งหลายแหล่ที่ปรากฏในปัจจุบัน ตามสภาพที่เป็นจริงทางปรมัตถ์ตลอดเวลาว่า   เป็นเพียงนามและรูป    ดังนี้นการที่เราได้ศึกษาให้รู้ธรรมของพระองค์ต่อไปว่านามมีอะไรบ้าง   รูปมีอะไรบ้าง   ยิ่งมีความรู้ความเจ้าใจในธรรมของพระองค์มากขึ้นเพียงใด   เราก็ย่อมจะเข้าใจสภาพทั้งหลายแหล่ที่ปรากฏแก่ตา   หู  จมูก  ลิ้น   กายและใจของเรา   ตามสภาพความเป็นจริง   และเหตุปัจจัยต่าง ๆได้มากยิ่งขึ้นตามลำดับ เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว   ก็ย่อมจะละจะคลายความยึดมั่นถือมั่นลง   จะละทิ้งการยึดถือเป็นตัวเป็นตน   เป็นสัตว์   เป็นบุคคลลงไปตามลำดับ

การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นแรกคือพระโสดาบันบุคคลนั้น จะต้องขจัดขัดเกลาให้หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดเบื้องต่ำสามอย่างของสังโยชน์ ๑๐ อัน  ได้แก่ สักกายทิฏฐิ  (ความเห็นว่าเป็นตัวตน)   วิจิกิจฉา  (ความลังเลสงสัย)   และสีลัพพตปรามาส  (ความเชื่อโชคลางของขลังพิธีกรรมและหนทางปฏิบัติผิด)    ฉะนั้นการมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน   ว่าเป็นเพียงนามและรูปจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะละวางและหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด   อันแรกคือสักกายทิฏฐินั่นเอง

การปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาให้ละคลายและหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดดังกล่าวนั้น   เป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นปกติวิสัยในชีวิตประจำวัน    การจะทำดังนี้ได้จะต้องฝึกอบรมตนเองให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันด้วยโยนิโสมนสิการ คือ  การพิจารณาไตร่ตรอง   ให้ประจักษ์แจ้งเห็นจริง   ให้เกิดปัญญาอันเห็นชอบหรือสัมมาทิฏฐิ   ต่อสภาพนามธรรมและรูปธรรม   กุศล  และอกุศล  เป็นต้น    การปฏิบัติธรรมดังกล่าวนี้ได้มีผู้ปฏิบัติกันอยู่หลายวิธี   แต่ข้อสำคัญนั้น   จะต้องปฏิบัติเพื่อละกิเลสให้ได้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ    ฉะนั้นหนทางที่ตรงที่สุดก็คือ   จะต้องปฏิบัติธรรมดังกล่าวในชีวิตประจำวัน    กล่าวคือการอบรมตนให้มีสติระลึกรู้ต่อสภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันให้เป็นปกติวิสัย   ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน    ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า   หนทางเป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เพื่อก้าวล่วงความโศก   ความคร่ำครวญ   ความทุกข์กายทุกข์ใจเพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง   เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน   คือ  การเจริญสติ ๔ อย่าง ได้แก่  การพิจารณากาย  เวทนา   จิต  และธรรม

การเจริญสติดังกล่าวในทางปฏิบัตินี้น มักจะมีการถามกันมากว่าทำอย่างไร ผมเองก็เคยถามและฟังแล้วฟังเล่าจึงเริ่มจะเข้าใจ   สำหรับผมเองนี้นได้รู้สึกกับตัวเองว่าการฟังประสบการณ์ของผู้อื่น   ประกอบกับฟังธรรมบรรยายและศึกษาโดยตรงจากมหาสติปัฏฐานสูตร ได้ก่อให้เกิดปัญญาขึ้นเรื่อย ๆ คือได้โน่นนิดนี่หน่อย   ทำให้ปัญญาค่อย ๆ เจริญขึ้น

เมื่อผมได้อ่านต้นฉบับของคุณนีน่า   ผมรู้สึกว่าคุณนีน่าเขียนได้ละเอียดละออดี   เมื่ออ่านแล้วชวนให้เป็นผู้ละเอียดในการสังเกตตัวเองมากขึ้นตามอย่างคุณนีน่า   ความละเอียดในการสังเกตความรู้สึกของตัวเองนี้ย่อมเป็นการก้าวไปสู่การมีสติตามธรรมดาก่อน   แล้วย่อมจะทำให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นตามลำดับ   อันเป็นการขัดเกลาตัวเองให้รู้สภาพนามธรรม   รูปธรรม  กุศล   และอกุศลซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น   ตั้งอยู่   และดับไปในที่สุดตลอดเวลา     การมีสติระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ทุกขณะตลอดเวลาเช่นนี้   เป็นสาระสำคัญของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน    คุณนีน่าได้เล่าถึงประสบการณ์ต่าง ๆตลอดจนการวิเคราะห์ความนึกคิดของตัวเธอเองออกเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง   ณ ขณะปัจจุบันในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า   การแปลหนังสือเล่มนี้น่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านในการขัดเกลาตนเอง ให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในปัจจุบันตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน อันจะก่อให้เกิดการละการวาง   การคลาย   และการขจัดกิเลสเครื่องร้อยรัดให้หมดไปตามลำดับ   อันเป็นทางไปสู่อริยมรรคอริยผลในที่สุดได้ไม่มากก็น้อย    ข้อสำคัญขอให้ท่านอ่านไปไตร่ตรองไปและพิจารณาให้เห็นประโยชน์   แล้วสอนตัวเองเพื่อนำไปขัดเกลาตนเองต่อไป   ก็จะเกิดประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

ท้ายที่สุดนี้ผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแก่ท่านผู้ประพันธ์   และ ท่านอาจารย์สุจินต์   บริหารวนเขตต์ ที่ได้กรุณาตรวจแก้ต้นฉบับให้อย่างละเอียดละออยิ่งไว้   ณ  ที่นี้   และขออานิสงส์ผลบุญจากการบำเพ็ญธรรมทานครั้งนี้   จงเป็น
พลวปัจจัยให้ท่านผู้อ่าน   ท่านผู้บริจาคทรัพย์   และท่านผู้ร่วมในการจัดทำหนังสือนี้   ประสบแต่ความสุขความเจริญ   และได้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ในชาตินี้ก็ในชาติต่อ ๆ ไป   ตามความปรารถนาจงทุกประการ

        พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ, PH.D
        ๑๒/๒ ซอยสังขะวัฒนะ ๒
        ลาดพร้าว ๒๓ กทม. ๑๐๙๐๐
        โทร. ๕๑๑ ๔๑๔๘
        พฤศจิกายน ๒๕๒๙



    ในครั้งกระโน้น พระภิกษุ ภิกษุณี
และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและ
    ปฏิบัติ "สติปัฏฐาน"
(ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้)
กันอย่างกว้างขวาง คนเป็นจำนวนนับ
ไม่ถ้วนได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์
ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล
ก็เพราะว่าท่านมีสติระลึกรู้สภาพความ
เป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
และมโนทวารในขณะปัจจุบัน



                          อารัมภกถา

เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักผู้เขียนและการจาริกของเธอ    ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการมีอารัมภกถาสำหรับเรื่อง "ธรรมจาริกในศรีลังกา"   นี้เป็นการสมควรอย่างที่สุด

วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี ๒๕๑๐ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง    "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"   โดยผู้เขียนท่านนี้แล้ว    พระคุณเจ้าธัมมธโรได้เสนอแนะให้ข้าพเจ้าจัดสัมมนาธรรมขึ้นในประเทศศรีลังกา   และให้เชิญคุณสุจินต์   บริหารวนเขตต์    ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนเรื่องนี้ ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมที่มีชื่อเสียงยิ่งคนหนึ่งของประเทศไทย   และได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางทั้งจากภิกษุและคฤหัสถ์ในประเทศไทย   ในความเชี่ยวชาญและขันติธรรมของท่านที่เผยแพร่พระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คนทั้งหลายเข้าใจได้

ข้าพเจ้าได้นำความคิดนี้ไปเสนอแก่พระคุณเจ้ามดิเหปัณ
ณสีห์   มหานายกะเถระผู้อุปถัมภ์ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านก็ได้เห็นพ้องด้วยอย่างสิ้นเชิงกับแผนงานนี้ทั้งหมด   และได้กรุณารับเป็นประธานเปิดประชุมสัมมนานี้ที่ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา   ณ  เลขที่ ๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะะ โคลอมโบ ๗   ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การประชุมครั้งนี้

ผู้จัดประชุมได้ส่งจดหมายเชื้อเชิญไปยัง   คุณสุจินต์ 
บริหารวนเขตต์   ขอให้ท่านมาร่วมในการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงโคลอมโบ   เมืองอนุราธปุระ และเมืองแคนดี   ในการตอบรับคำเชิญนี้   คุณสุจินต์ ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า คุณนีน่า วัน กอร์คอม จากประเทสเนเธอร์แลนด์   ผู้เขียนหนังสือนี้    คุณดวงเดือน บารมีธรรม จากประเทศไทย  และ นางสาว
ซาราห์ พร็อกเตอร์   จากประเทศอังกฤษจะมาร่วมประชุมด้วย ข้าพเจ้าปิติยิ่งต่อข่าวนี้   และรู้สึกว่าการอภิปรายต่าง ๆ ย่อมจะอำนวยผลเป็นอย่างดี และการก็เป็นไปเช่นนั้น

คุณนีน่า วัน กอร์คอม เป็นชาวดัชโดยกำเนิด ในชั้นแรกที่เธอได้มายังประเทศไทยนั้น   ก็เป็นการติดตามสามีของเธอซึ่ง
เป็นข้าราชการในสถานเอกอัครราชฑูตของประเทศเนเธอร์แลนด์   เธอสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะศึกษาวัฒนธรรมไทย และได้ประจักษ์ว่า   วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาวัฒนธรรมไทย   ก็โดยการศึกษาพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่าวัฒนธรรมไทยมีรากฐานจากพระพุทธศาสนา
ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้ติดต่อกับคุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ และได้เรียนรู้พระธรรมจากคุณสุจินต์    เธอได้กลับกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สนใจศึกษาพระอภิธรรม   และวิปัสสนา และได้อุทิศตนในการเขียนเรื่องพระพุทธศาสนา   ในขณะที่พำนักอยูในกรุเทพฯ เธอได้เขียนหนังสือขึ้นสองเล่ม   คือ "พระพุทธศาสนาในชีวิตพระจำวัน"   และ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน"   ซึ่งเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย สำหรับข้อเขียนอื่น ๆ ของเธอ   คือ  "จดหมายจากโตเกียว"   "จดหมายจากนิวยอร์ค"  และ   "จดหมายจากกรุงเฮก" ยังคงอยู่ในรูปของกระดาษไข   เรื่องล่าสุดของเธอคือ   "ธรรมจาริกในศรีลังกา" นี้   เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงข้อสนทนาธรรมที่ได้กระทำกันที่ศรีลังกา

ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสหายธรรมทั้งหลายของเรา   จะได้รับประโยชน์จากข้อเขียนเหล่านี้ของสหายธรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้นี้ของเรา

ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวไว้  ณ   ที่นี้ด้วยว่าการประชุมสัมมนาในครั้งนี้นับว่า   เป็นการประจวบกันที่เป็นการรื้อฟื้นธรรมสัมพันธภาพอันเก่าแก่ที่ธำรงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓  ระหว่างกรุงสยาม  ฮอลแลนด์   และกรุงลังกา   มาเป็นระหว่าง--ประเทศไทย   ประเทศเนเธอร์แลนด์   และประเทศศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ ๒๖

   
ขอให้มวลมนุษยชาติจงมีความสุขสมบูรณ์โดยถ้วนหน้า

            ร้อยเอกเอส.แอล.วี.เอ.เปเรร่า อี. ดี.
            ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา
            ๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะถะ
            โคลอมโบ ๗ ประเทศศรีลังกา
            ๔ สิงหาคม ๒๕๒๐

 

 

 

home      ปัญหาถาม-ตอบ       หนังสือธรรมะ

พระไตรปิฎก     ถาม-ตอบจากหนังสือ

หมายเหตุ: คัดลอกจากหนังสือ  "ธรรมจาริกในศรีลังกา"
โดย  Nina Van Gorkom
แปลโดย  พ.อ. ดร. ชินวุธ   สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 

Click Here!

 



watbowon01.jpg (6897 bytes)

วัดบวรนิเวศฯ
กรุงเทพฯ