หน้าหลัก สาระน่ารู้ จานเด็ด กระดานข่าว เกมส์ชิงรางวัล

อันตรายจากไข้สมองอักเสบในหมู
หลายท่านคงได้อ่านข่าวเกี่ยวกับโรคไข้สมองอักเสบในหมูที่ประเทศมาเลเซียกันบ้างแล้ว ซึ่งทางมาเลเซียได้ควบคุมการระบาดของโรคด้วยการฆ่าหมู(ด้วยการยิง)กว่า 311,000 ตัว ทีนี้เรา มาดูกันดีกว่าว่าโรคนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่
ไข้สมองอักเสบในหมู หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Japanese encephalitis เรียกย่อว่า JE โรคนี้พบทั่วไปในสัตว์แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สุกร ม้า และโค เป็นต้น สุกรและโคที่ติดเชื้อนี้อาจไม่แสดงอาการ แต่สำหรับม้าแล้วจะแสดงอาการทางประสาทอย่างรุนแรงถึงตายได้
การเกิดโรคจะเกิดเป็นวงจรระหว่างสุกร ยุง และคน โดยที่"ยุงรำคาญ"เป็นพาหะ เมื่อสุกรได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป เชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในกระแสเลือดในช่วง 2-4 วัน หากยุงได้ดูดเลือดสุกรในช่วงนี้ เชื้อไวรัสก็จะมีพัฒนาการในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดคนหรือม้าก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ ส่วนสุกรเมื่อผ่านช่วงดังกล่าวไป ร่างกายก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ คนและม้าจะเป็นแหล่งพำนัก(host)สุดท้ายของเชื้อนี้ กล่าวคือจะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อต่อไป และเพื่อความมั่นใจนายสุวิทย์ ผลลาภ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ออกมากล่าวเกี่ยวกับ การติดต่อของโรคนี้ว่าโรคนี้ต้องติดต่อผ่านยุงไม่ใช่จากการกินเนื้อหมู แต่อย่างไรก็ตาม ควรนำเนื้อหมูมาทำให้สุกก่อนเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคอื่น สำหรับอาการนั้น
  • ในคนจะมีไข้ อาเจียน ส่วนใหญ่จะพบการระบาดในกลุ่มเด็กอายุ ต่ำกว่า 14 ปี
  • ในม้าจะมีไข้ ซึม แสดงอาการทางประสาท เช่นเดินวน ชนคอก
  • ในสุกร ปกติไม่แสดงอาการ แต่ถ้าสุกรที่ตั้งท้องติดเชื้อ จะทำให้ลูกสุกรตายในท้อง หรือ ตายแรกคลอด
สำหรับการป้องกันโรคนั้นปัจจุบันได้มีการทำวัคซีนในคนและม้า แต่สำหรับสุกรยังไม่มี(ประเทศไทย) นอกจากนั้นที่เราทำได้คือกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์

ข้อมูลจากนสพ.เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2542

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหาร ติดต่อมาที่ foodonline@hotmail.com

ย้อนกลับหน้าสาระน่ารู้ คลิกที่นี่ หรือคลิกที่แถบเมนูด้านบน