ประวัติค่ายอาสาฯ

 

เดิมโครงการนี้มีชื่อว่า “กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” แต่เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำให้กิจกรรมต่างๆของนิสิตนักศึกษาชะงักลง ฉะนั้นเพื่อให้งานอาสาพัฒนาชนบทได้ดำเนินงานต่อไป ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้อนุมัติการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของมหาวิทยาลัย

ต่อมาปี2525ทางมหาวิทยาลัยได้ออกธรรมนูญการปกครองนิสิตฉบับใหม่ซึ่งมีข้อบังคับว่าด้วยกิจกรรมของนิสิตให้มีสโมสรและชมรมเท่านั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการมาใช้ชื่อ “ชมรมค่ายอาสาพัฒนา” ขึ้นในปี 2526

วัตถุประสงค์

การรวบรวมประวัติความเป็นมาของชมรมค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวค่ายฯในปัจจุบันได้รู้ว่า ค่ายนั้นมีจุดเริ่มต้นมาอย่างไรชาวค่ายฯรุ่นเก่านั้นมีแนวความคิดอย่างไรจึงได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาและการดำเนินงานในครั้งแรกนั้นกระทำเช่นไร เพื่อที่ชาวค่ายฯในปัจจุบันได้เปรียบเทียบดูว่าค่ายฯปัจจุบันนี้กับค่ายฯเมื่อเริ่มก่อตั้งมีความแตกต่างกันอย่างไรควรจะปรับปรุงแก้ไขอะไร

บ้างทั้งนี้และทั้งนั้นต้องขอขอบพระคุณพี่ค่ายรุ่นเก่าๆเป็นอย่างมากที่ได้กรุณาส่งเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายฯแรกเริ่มให้เพื่อความสะดวกในการรวบรวม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ :-

แนวความคิด จุดเริ่มต้น

จุดสนใจของคนต่อด้านอาสาพัฒนา ได้เริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นานมาแล้ว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของค่ายอาสาพัฒนาในเมืองไทย โดยจุดเริ่มต้นของงานค่ายได้เริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งตอนนั้นอยู่ในรูปของ “เกษตรชมรม” หรือ “เกษตรฟอรั่ม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้นิสิตเกษตรทั้งหลายภูมิใจกันเป็นหนักหนาในสมัยนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น “กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร องค์กรนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”จากหน่วยงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของค่ายอาสาพัฒนาหน่วยเล็กๆนี้เองได้เป็นตัวแทนของชาวนิสิต

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหลาย ออกไปให้บริการรับใช้ชาวบ้านในสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยรวมทั้งในชนบทจังหวัดต่างๆด้วย เป็นจุดเริ่มแรกของงานค่ายอาสาพัฒนาปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ดีความสนใจต่างๆยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะนิสิตเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นิสิตเกษตรที่เข้าไปมีบทบาทในวงการด้านนี้จึงมีน้อย ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการตั้งตัวแทนถาวร จึงทำให้การเชื่อมโยงความสนใจขาดตอนไปบ้างภายหลัง

ในเวลาต่อมานิสิตได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆโดยรวบรวมเฉพาะผู้ที่ที่มีความสนใจในงานด้านนี้อย่างจริงจัง นำมาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การเคลื่อนไหวของนิสิตเหล่านี้ยังอยู่ในวงแคบเหลือเกิน แต่ก็พยายามชักจูงให้บุคคลอื่นได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครขององค์กร สมาคม และชุมนุมต่างๆมากขึ้น

บุคคลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นตัวกำลังสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มนิสิตอาสาสมัครของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ นายบำรุง บุญปัญญา ซึ่งได้เคยร่วมงานและได้แนวทางความคิดมาจากสมาคมนิสิตนักศึกษาสัมมนา โดยเริ่มดำเนินการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อประมาณกลางปี 2509

การดำเนินงานในระยะแรก

หลังจากรวมกลุ่มผู้สนใจแล้ว ได้มีการเผยแพร่แนวความคิดของกลุ่ม และการดำเนินการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในขั้นแรกคือ การจัดทำเอกสาร คำชี้แจง วัตถุประสงค์ ระเบียบการใบสมัคร และเผยแพร่แนวความคิดเหล่านี้แก่นิสิต ตลอดจนคำปรึกษาแนะนำจากอาจารย์ การเผยแพร่ความคิดนี้มุ่งเน้นต่อนิสิตกลุ่มต่างๆ เช่น สโมสร ชุมนุม ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจพอสมควร แต่เนื่องจากมีข้อขัดข้องบางอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเปิดเรียนภาคฤดูร้อนและนิสิตส่วนหนึ่งต้องออกไปฝึกงานภาคสนามตามไร่ฝึกต่างๆของมหาวิทยาลัย ดังนั้นนิสิตผู้สนใจและสามารถออกงานค่ายอาสาได้จึงมีจำนวนน้อย บางคนก็ต้องถอนตัวออกไประยะหนึ่ง เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางอย่าง ดังจดหมายของพี่สุเมธได้กล่าวว่า “ผมไปยื่นใบสมัครที่สโมสรภาษาอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นพี่เปี๊ยกเป็นรองประธานสโมสรฯประมาณเดือนมกราคมปี 2510 และหลังจากที่ได้คุยหลักการกับพี่เปี๊ยก (บำรุง บุญปัญญา) แล้ว ผมจึงทราบว่าผมเป็นสมาชิกคนเดียวของค่ายอาสาพัฒนาในขณะนั้น ทั้งๆที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือนก็จะเปิดภาคอยู่แล้ว”

การคัดเลือกสมาชิกไม่เป็นปัญหา ปัญหาจริงๆอยู่ที่ว่า ในขณะนั้นมีสมาชิกจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ดังนั้นถ้ามีใครมาแสดงความจำนง ทางกลุ่มจะรับทันที ชาวค่ายทั้งหมดในปีแรกมีเพียง 18 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 5 คน ในจำนวนสมาชิกหญิง 5 คนนี้ ไม่มีนิสิตเกษตรเลย เป็นนิสิตจุฬา 3 คน เป็นนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 คน

ปีพ.ศ. 2510 กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มปฏิบัติงานค่ายอาสาพัฒนาเป็นครั้งแรก ณ หมู่บ้านป่ากอ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี และหมู่บ้านคำพอก อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

การเตรียมงานก่อนการออกค่ายอาสาสมัครฯ มก.

ภายหลังที่กลุ่มนิสิตอาสาสมัครฯ ได้ร่วมพิจารณาแผนงาน ณ หมู่บ้านป่ากอ จ.อุบลราชธานี และหมู่บ้านคำพอก อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม แล้วมีความเห็นพ้องต้องกันว่า

  1. การจัดตั้งค่ายสมควรจัดเป็นค่ายเดียว แต่ทำงานทั้งสองแห่งติดต่อกัน โดยเริ่มที่จังหวัดอุบลราชธานีก่อน และย้ายไปทำต่อที่จังหวัดนครพนม ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนิสิตอาสาสมัครมีสมาชิกอยู่จำนวนจำกัด เครื่องมือเครื่องใช้มีไม่พอ ไม่สามารถแยกการดำเนินงานออกเป็นสองค่ายในขณะนั้นได้
  2. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สมควรจัดนิสิตจำนวนหนึ่งเดินทางล่วงหน้าไปยังจังหวัดอุบลฯ และนครพนมเพื่อเข้าร่วมปรึกษาหารือจัดเตรียมขั้นตอนของการทำงานร่วมกันในระหว่างนิสิตและประชาชนในท้องถิ่นนั้น
  3. ควรจัดเตรียมเอกสารเผยแพร่ทางด้านการเกษตร ยาประจำบ้าน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์ในการเรียนสำหรับเด็กนักเรียน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน ตลอดจนพาหนะเดินทางให้พร้อม (การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ได้แก่ สังกะสี ตะปู ปูนซีเมนต์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างงานตามแผนที่วางไว้)
  4. ตำแหน่งผู้อำนวยการค่ายควรมอบให้ประธานกลุ่มนิสิตอาสาสมัครหรือรองประธานส่วนหัวหน้าแผนกต่างๆควรพิจารณาตาม ความเหมาะสม และตามความสามารถของสมาชิก

 

นอกจากนี้ทางกลุ่มได้รวมกลุ่มกันจัดวางวัตถุประสงค์ในการออกค่ายไว้ด้วย คือ

  • เพื่อส่งเสริมให้นิสิตใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการพัฒนาชุมชน
  • เพื่อช่วยกระตุ้นให้นิสิตเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองและประชาชน
  • เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของประเทศชาติที่กำลังเร่งรัดพัฒนาชนบท

  • เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับนิสิต

  • เพื่อฝึกหัดการเป็นผู้นำที่ดี สร้างความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ

  • เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาสภาพความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวชนบท

การบริหารงานค่ายฯ

โดยที่การปฏิบัติงานรวมกลุ่มกันเป็นครั้งแรก การบริหารจึงได้จึงแบ่งโดยคร่าวๆคือ การบริหารของกลุ่มฯ การแบ่งงาน การคัดเลือกสมาชิก และแต่งตั้งกรรมการ

การบริหารงานของกลุ่มฯ : ประธานของกลุ่มนิสิตอาสาสมัครคนแรก ได้แก่ นายบำรุง บุญปัญญา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานของกลุ่มฯ

การแบ่งงาน : ในระยะแรกยังไม่ได้แบ่งกันแน่นอน ทั้งนี้เพราะมีผู้ร่วมงานเพียง

3-4คนเท่านั้น ทุกคนจึงช่วยกันทุกด้าน และก่อนที่จะออกมาปฏิบัติงานค่ายนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจึงแต่งตั้งให้ นายเวท ไทยนุกุล รับหน้าที่ผู้อำนวยการค่าย ทั้งนี้เนื่องจาก นายบำรุง บุญปัญญา ผู้ซึ่งคาดหมายกันว่าจะทำงานตำแหน่งนี้ต้องไปทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการสำรวจที่ดินที่จังหวัดเพชรบูรณ์

การคัดเลือกสมาชิก 

    การคัดเลือกสมาชิกที่จะออกค่าย ไม่สามารถกระทำได้ เพราะว่ามีผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่ต้องการ ดังนั้น ถ้ามีคนมาสมัครก็รับทันที

การตั้งคณะกรรมการ ก่อนออกค่ายประมาณ 10 วัน ได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารค่ายอาสาสมัคร ดังนี้ :-

ในระหว่างการปฏิบัติงานค่ายนั้น ทางกลุ่มฯ ได้จัดแบ่งหน่วยงานออกเป็น

  • กองอำนวยการ ประกอบด้วยผู้อำนวยการค่ายฯ 1 นาย กองอำนวยการมี หน้าที่ควบคุมนโยบายการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งค่าย
  • แผนกงานต่างๆ ประกอบด้วย แผนกโครงงาน แผนกอาหาร แผนกประชาสัมพันธ์ แผนกกีฬาบันเทิง แผนกสวัสดิการ แผนกพัสดุ โดยมีประธานแต่ละแผนกมีหน้าที่รับผิดชอบการทำงานในแผนกนั้นๆ สมาชิกค่ายถูกจัดให้ประจำอยู่ในแผนกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและความจำเป็นของงานแต่ละงาน

ลักษณะของงาน

  • โครงการถาวรวัตถุ อันได้แก่ งานสร้างซ่อมแซมโรงเรียนประชาบาล ถนน สะพาน บ่อ ฯลฯ
  • โครงการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร แยกเป็นด้านสัตวบาล พืชศาสตร์ ปฐพีวิทยา ตลอดจนการจัดหาเอกสารทางวิชาการเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในแถบนั้น

บรรยากาศในการทำงาน

โดยเหตุที่สมาชิกค่ายเป็นนิสิตที่มาจากเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคนมีความรู้จักมักคุ้นและเคารพรักใคร่สนิทสนมกันมาก่อน บรรยากาศในการทำงานจึงเกิดความอบอุ่นและเป็นกันเอง ชาวบ้านและเยาชนซึ่งได้จับกลุ่มมาร่วมทำงานด้วยเป็นประจำทุกวัน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานของส่วนรวมให้เข้มแข็งคึกคัก และสนุกสนานยิ่งขึ้น การทำงานของแต่ละแผนกมีการแข่งขันเพื่อความดีเด่นในผลงานของตน ผลงานโดยส่วนรวมนับว่ารุดหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ปัญหาและอุปสรรคในการออกค่ายครั้งแรก

  • ชาวบ้านขาดประสบการการณ์เกี่ยวกับงานค่าย จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกไป ปฏิบัติงานค่ายครั้งแรกของ มก. ไม่เคยผ่านงานค่ายมาก่อนเลย ยกเว้นแต่ชาวค่ายสมทบจากจุฬาฯ
  • การเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ในด้านค่าย ในการปฐมนิเทศไม่ค่อย ได้ผลเพระชาวค่ายส่วนใหญ่มิได้เข้ารับการปฐมนิเทศ
  • โครงการที่จัดทำไว้ยังไม่ดีพอ เพราะโครงการบางอย่างไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ความกระตือรือร้นในการที่จะให้ความสนใจและร่วมมือของชาวบ้านจึงมีไม่มากเท่าที่ควร
  • ฝ่ายสำรวจจัดทำโครงการมิได้ออกปฏิบัติงานค่าย ทำให้โครงการบางอย่างไม่ต่อเนื่องตามที่วางเอาไว้
  • ทางกลุ่มฯ ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กบไสไม้ ฯลฯ และวัสดุอื่นๆรวมทั้งขาดความชำนาญในการใช้เครื่องมือ รวมทั้งปัญหาในด้านการขนส่งอุปกรณ์ล่าช้า
  • ในระยะแรกๆชาวงบ้านไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการทำงานของชาวค่าย ทำให้ชาวบ้านคิดว่า ไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับชาวค่ายก็ได้

ผลที่ได้จากการออกปฏิบัติงานค่ายอาสา ครั้งที่ 1

ทางกลุ่มได้สรุปผลในการออกปฏิบัติงานครั้งนี้ ได้คือ

ผลต่อชาวค่าย

  • การทำงานค่ายช่วยฝึกฝนในการเป็นผู้นำที่ดี
  • ช่วยให้มีความคิดริเริ่มในทางสร้างสรรค์ รู้จักการตัดสินใจ กล้าพุด กล้าทำ
  • ในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง
  • ช่วยให้มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นหมู่คณะ มีความคล่องตัวในการติด
  • ต่อประสานงานอันอาจจะเป็นประโยชน์ในการทำงานต่อไป
  • ช่วยให้เกิดความรักหมู่คณะ มีความสามัคคีกลมเกลียว และรู้จักเสียสละ
  • เพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สังคมของชาติ 
  • ชาวค่ายฯ มีโอกาสคลุกคลีเห็นสภาพความเป็นอยู่ ได้ถ่ายทอดความรู้ แลก เปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนรับรู้ปัญหาของพี่น้องกสิกรในชนบท ซึ่งเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศนับเป็นโอกาสอันดี เพราะในอนาคตชาวค่ายเหล่านี้จะได้มีโอกาสได้ทำงาน ทั้งราชการ เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับชาวชนบทเหล่านี้ การได้พบปะคลุกคลีกันเป็นเวลานานพอสมควรจะทำให้มองเห็นปัยหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้แสวงหาความช่วยเหลือ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของกสิกรเหล่านี้

ผลต่อชาวบ้าน

  • มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนวิชาการบาง อย่างจากชาวค่ายฯ 
  • ช่วยให้เกิดความรู้สึกว่า ชาวชนบทยังไม่ได้ถูกทอดทิ้ง 
  • ชาวบ้านมักจะได้รับความช่วยเหลือเอาใจจากหน่วยงานต่างๆเพิ่มมากขึ้น
  • อาจจะกระตุ้นให้ชาวบ้านกระตือรือร้นในการช่วยเหลือตัวเองทั้งด้านการอยู่ร่วมกันและการประกอบอาชีพ
  • ตลอดจนการติดต่อขอความช่วยเหลือร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ

 

กลับไปข้างบน