กล้วย :: Banana

ในเมืองไทยเรานี้มีกล้วยอยู่มากมายหลายพันธุ์ บางท่านอาจจะรู้จักแต่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ แต่ความจริงแล้วยังมีกล้วยอีกหลายชนิด ทั้งกล้วยที่ทานได้ กล้วยประดับตกแต่งหรือกล้วยสวยงามนั่นเอง และอีกทั้งในกล้วยหอม หรือกล้วยน้ำว้าก็ตาม ยังสามารถแตกออกได้อีกเป็นหลายพันธุ์

ในสวนลุงตี๋ได้รวบรวมพันธุ์ของกล้วยต่างๆไว้ ดังนี้

กล้วยหอม
กล้วยน้ำว้า
กล้วยไข่
กล้วยเล็บมือนาง
กล้วยงาช้าง
กล้วยนาค
กล้วยนมสวรรค์
กล้วยนมหมี
กล้วยน้ำไท
กล้วยหักมุก
กล้วยเทพรส
กล้วยพม่าแหกคุก
กล้วยแดง
กล้วยงาหมู
กล้วยตีบคำ
กล้วยตานี
กล้วยเสือพราน
กล้วยผา
กล้วยนวล
กล้วยแคระ
กล้วยหิน

 

1. กล้วยหอม แยกได้เป็น

1.1 กล้วยหอมทอง

มีลำต้นสูงใหญ่แข็งแรง เครือใหญ่ ผลใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นสีชมพู ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้างและมีปีก ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายแหลม เครือหนึ่งมี 4-6 หวี หวีละ 12-16 ผล ผลใหญ่ ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ที่ปลายจุกจะเปลี่ยนสีภายหลัง เนื้อสีส้มอ่อน กลิ่นหอม รสหวาน

1.2 กล้วยหอมเชียงราย หรือ กล้วยหอมกะเหรี่ยง

เป็นกล้วยหอมที่ลำต้นแข็งแรง เมื่อตกเครือแทบไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำเลย ลักษณะโดยทั่วไป คล้ายกับกล้วยหอมทอง เครือหนึ่งมีจำนวน 10-12 หวี หวีละ 14-16 ผล ผลคล้ายกล้วยหอมทอง แต่ปลายผลทู่ เมื่อสุกผิวจะมีสีเหลืองทอง เนื้อในสีส้มอ่อน รสหวานหอม เปลือกบาง แต่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี นิยมปลูกกันมากในแถบจังหวัดกาญจนบุรีและเพชรบุรี สถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเกษตรกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำการขยายพันธุ์ โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

1.3 กล้วยหอมเขียว

มีลำต้นใหญ่แข็งแรงขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประสีดำมากกว่ากล้วยหอมทอง เครือหนึ่งจะมี 9-10 หวี หวีละ 12-16 ผล ผลมีสีเขียว เมือสุกปลายผลทู่ เนื้อสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม รสหวาน

1.4 กล้วยหอมไต้หวัน

เป็นกล้วยหอมที่มีเปลือกลำต้นออกสีน้ำหมาก ขนาดลำต้นคล้ายกล้วยหอมทอง เมื่อสุกเนื้อแน่นเหนียวรสหวาน รับทานอร่อย ไม่หลุดร่วงง่าย เหมาะแก่การปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในการส่งออก

1.5 กล้วยหอมจันทน

ปลูกกันมากในภาคเหนือแบบสวนหลังบ้าน มีลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำเล็กน้อย ก้านใบสีชมพูอมแดง เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีละ 14 ผล ผลเล็กคล้ายกล้วยเล็บมือนาง แต่ยาวกว่าและปลายผลไม่เรียวแหลม มีจุกสั้นใหญ่ ก้านผลสั้น เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อสุกมีสีเหลืองคล้ายกัน กลิ่นหอมเย็น รสหวาน

2. กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่ปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย เนื้อกล้วยมีคุณค่าทางอาหารมาก ใช้เป็นอาหารเด็กอ่อน กินสดและทำเป็นขนมหลายชนิด

ลักษณะทั่วไป ลำต้นสูงระหว่าง 1.75-4.5 เมตร แล้วแต่พันธุ์ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นมากกว่า 15 ซม. กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอ่อน มีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกไม่มีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างป้อม ม้วนงอขึ้น ปลายป้าน ด้านบนสีแดงอมม่วงมีนวล ด้านล่างสีแดงเข้ม เครือหนึ่งมี 7-15 หวี แล้วแต่พันธุ์ หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ความยาวใกล้เคียงกับกล้วยไข่ เปลือกหนากว่ากล้วยไข่ เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อสีขาว รสหวาน กล้วยน้ำว้ามีสายพันธุ์ย่อยแตกต่างไปดังนี้

2.1 กล้วยมะลิอ่อง

ลำต้นสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 15 ซม. กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวปนแดง มีประดำค่อนข้างมาก ก้านใบสีเขียวสด ท้องใบมีนวลมาก เครือหนึ่งมี 5-7 หวี ลักษณะผลภายนอกเหมือนกล้วยน้ำว้ากาบขาว ผลสุกมีสีเหลืองปนน้ำตาล เปลือกบาง บางครั้งมีกระที่ผิว เนื้อในมีสีขาวเหลือง รสหวานจัดกว่าทุกพันธุ์ เป็นกล้วยที่นิยมปลูกในสวนแถบบางกอกน้อย และสวนทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรี มีชื่อพ้องว่า กล้วยน้ำว้าสวน ทองมาเอง

2.2 กล้วยน้ำว้าค่อม

ลักษณะ ลำต้นอวบอ้วน เตี้ยกว่ากล้วยน้ำว้าทั่วไป จะมีเครือ ขนาดใหญ่ ผลเยอะ ประมาณ 9-11 หวี หวีละประมาณ 15 ลูกขึ้นไป รสชาติ จะดีเฉพาะเครือแรก ถ้าเป็นกล้วยตอ ขนาดเครือและผลจะเล็กลง รสชาติจะด้อยลงมาและกล้วยชนิดนี้มักจะมีโรครากเน่า อยู่เสมอ เมื่อตัดเครือแรกแล้ว ควรแยกหน่อและย้ายหลุมปลูก อยากให้ซ้ำที่เดิม

2.3 กล้วยน้ำว้าดำ

ลักษณะลำต้นสูงใหญ่ เมื่อปลีกล้วยออกมาจะเห็นสีของปลีกล้วยผิดปกติกว่ากล้วยน้ำว้าธรรมดาทั่วไป บริเวณโคนก้านใบจะมีปื้นสีดำ และที่ผลอ่อนจะมองดูคล้ายมีเงาสีดำเคลือบอยู่ สีจะเปลี่ยนเป็นสีเปลือกมังคุดใกล้ดำ เมื่อผลแก่เต็มที่ตามภาพ

2.4 กล้วยน้ำว้าด่าง

เป็นกล้วยที่กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้าค่อม แต่ลำต้นเล็กกว่า ลักษณะใบจะออกด่างขาวเป็นปื้น ทุกใบ เมื่อใบแก่ จะออกสีเขียวมากขึ้น สีขาวจะเลือนไปบ้างเล็กน้อย

3. กล้วยไข่

จะมีจุดประสีน้ำตาลที่ส่วนของลำต้น กาลและก้านใบมีสีเขียวอมเหลือง ผลกล้วยสั้นป้อม เนื้อกล้วยเมื่อสุกมีสีเหลืองไข่ รสหวาน มีหลายพันธุ์ดังนี้

3.1 กล้วยไข่กำแพงเพชร

3.2 กล้วยไข่ฝรั่ง

3.3 กล้วยไข่จีน

4. กล้วยเล็บมือนาง

นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ ลำต้นผอม สูงประมาณ 2.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำหนา ก้านใบสีชมพูอมแดง เครือหนึ่งมี 7-8 หวี ผลมีขนาดเล็กปลายเรียวยาว รูปโค้งงอ ก้านผลสั้น เปลือกหนา ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองทาองและยังมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ที่ปลายผล เนื้อในมีสีเหลือง รสหวานหอม มีชื่อพ้องว่า กล้วยข้าวทองดอกหมาก เล็บมือ

5. กล้วยงาช้าง

เป็นกล้วยที่มีอยู่บริเวณฝั่งธนบุรีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ เนื่องจากให้ผลน้อยและมีเนื้อแน่นเหนียว ไม่อร่อยเมื่อทานผลสด นิยมนำไปย่าง หรือเชื่อมรับประทานนับว่าเป็นกล้วยเชื่อมที่อร่อย ที่สุดอีกชนิดหนึ่ง ลำต้นสูงใหญ่กว่ากล้วยทั่วไป กล้วยชนิดนี้เมื่อออกเครือปลีจะหลุดหายไป กล้วยงาช้างจะออกปลีได้แค่ 1-3 หวีใน 1 เครือ หรืออาจจะไม่มีหวีเลยก็ได้ จึงถือได้ว่าเป็นกล้วยเสี่ยงทาย ถ้าผู้ใดปลูแล้วออกปลีแต่ไม่มีผลถือได้ว่าไม่มีโชคลาภ แต่ถ้าผู้ใดปลูกได้ 2-3 หวีนับว่ามีโชคลาภ ซึ่งในปกติมักจะมีแค่ 1หวีต่อเครือเท่านั้น

หน่อกล้วยจะมีสีชมพูอมแดง และมีมากกว่าหน่อกล้วยชนิดอื่นตามรูป

6. กล้วยนาค

ลำต้นสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวปนชมพู-แดง มีประดำบ้าง ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านใบมีร่องกว้างสีชมพูปนแดง มีปีก ก้านช่อดอกมีขน เครือหนึ่งมี 2-3 หวี หวีละ 6-9 ผล ผลใหญ่ สีเขียวอมม่วง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงสดใส ตามรูป ก้านผลสั้น เนื้อสีเหลือง กลิ่นหอมเย็น รสหวาน กล้วยชนิดนี้กลายพันธุ์ง่าย โดยผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เช่นกล้วยทั่วไป มีชื่อพ้องว่า กล้วยกุ้ง แดง

7. กล้วยนมสวรรค์ หรือ กล้วยน้ำนมราชสีห

ปลูกกันโดยทั่วไปในแถบอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เนื่องจากทนน้ำท่วมและหนอนเจาะ เป็นกล้วยที่มีลำต้นแข็งแรง ต้นโดกาบด้านนอกสีเขียวมะกอก เส้นกลางใบสีชมพูอมม่วงเห็นชัด รูปร่างของเครือเป็นรูปกรวย การเรียงตัวของหวีแน่น ผลมีจุกเหมือนจุกขวด เครือหนึ่งมี 10 หวี ผลมีขนาดเล็ก ก้านผลสั้น เมื่อดิบสีเขียวสด ผลสุกมีสีเหลืองสดไม่หลุดออกจากเครือ เมื่อสุกเนื้อมีรสหวานออกเปรี้ยว

8. กล้วยนมหม

ลำต้นแข็งแรง สูง 3.5- 4.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นมากกว่า 30 ซม. กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวเข้ม มีประดำบ้างเล็กน้อย มีนวลมาก ด้านในสีเขียวอ่อน ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบสีเขียว มีนวลทางด้านล่าง ก้านช่อดอกไม่มีขน เครือหนึ่งมีประมาณ 12-14 หวี หวีละ 10-15 ผล ผลมีขนาดใหญ่ กว้าง 5-6 ซม. ยาว 12-15 ซม. ลักษณะคล้ายกล้วยน้ำว้า เห็นเหลี่ยมชัดเจน การเรียงตัวของผลเป็นระเบียบ ก้านผลยาว เมื่อดิบผิวสีเขียวสด เมื่อสุกมีสีเหลืองทอง ตัดกับสีของผลที่ยังไม่สุกเห็นได้ชัดเจน เนื้อผลคล้ายกล้วยน้ำว้า แต่นิ่มกว่า รสชาติไม่ดี นิยมทำเป็นกล้วยฉาบ เมื่อยังดิบ เช่นเดียวกับกล้วยหักมุก อายุการตกผลมากกว่า 18 เดือน ทนน้ำท่วมและหนอนกอ

9. กล้วยน้ำไท

จัดอยู่ในกลุ่มพันธุ์แท้ของกล้วยป่า หรือพันธุ์ที่ได้กลายพันธุ์ไปจากพันธุ์แท้ แต่ยังมีลักษณะของพันธุ์แท้อยู่มาก ลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2-3 เมตร กาบด้านนอกและด้านในจะเป็นสีชมพูอมแดงและมีปื้น ก้านใบตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีครีบสีชมพูเส้นกลางใบเป็นสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาวม้วนงอขึ้นปลายแหลม เครือหนึ่งมีประมาณ 5 หวี หวีหนึ่งมีผลประมาณ 12-18 ผล ผลคล้าย กล้วยหอมจันทร์ แต่ผลจะโค้งงอน้อยกว่า เมื่อสุกเปลือกจะเป็นสีเหลืองเข้มกว่ากล้วยหอมจันทร์ และมีกระสีดำเล็กๆ คล้าย กล้วยไข่ เนื้อในเป็นสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมแรงคล้ายกลิ่นหอมดอกไม้ รสหวานชื่นใจ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ
กล้วยน้ำไท ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตเร็ว เหมาะจะปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและใช้ประโยชน์ทางพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ หรือเพื่อทานผลก็ได้
ประโยชน์ทางยาและพิธีกรรม ผลดิบกล้วยน้ำไทยมีรสฝาด สมานกล่อมอาจม ยางกล้วยเช็ดลิ้นเด็กแก้ละอองซาง เปลือกผลสุมไฟทาแก้ปากเปื่อย ผลสุกรับประทานแบบธรรมดาอร่อยเป็นยาเจริญธาตุ รสหวาน มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกไม้ ใครได้รับประทานแล้วจะติดใจ นอกจากนั้น ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น การบวงสรวง ขวัญข้าว หรือไหว้ครู หมอหรือพราหมณ์จะใช้ กล้วยน้ำไทย ประกอบพิธีทั้งสิ้น จึงนับว่าเป็น กล้วยพิธี ที่ยึดถือกันมาแต่บรรพกาล ปัจจุบันหายากเลยต้องใช้กล้วยน้ำว้าแทน

ตำนาน สมัยก่อนมีตำนานเล่าว่า หญิงชรามีลูกเยอะ ร่างกายทรุดโทรม เอากล้วยชนิดนี้ไปทำยาลูกกลอนผสมพริกไทยน้ำผึ้งกินเป็นประจำ ทำให้ร่างกายกลับเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลขึ้นมาใหม่ จนทำให้ลูกๆจำแม่ตัวเองไม่ได้ หมอยาไทยในยุคนั้นจึงเรียกสูตรยาดังกล่าวว่า "ยาลูกแปลกแม่" คือจำแม่ไม่ได้นั่นเอง

10. กล้วยหักมุก

มีลำต้นสูง 2.5-3.5 เมตร ลำต้นแข็งแรง กาบลำต้นด้านนอกมีประดำบ้างเล็กน้อย มีนวลมาก ด้านในสีเขียวอ่อน ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบและมีปีก เส้นกลางใบสีเขียวมีนวลทางด้านล่าง ก้านช่อดอกไม่มีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างป้อมม้วนงอขึ้น ปลายป้าน ด้านบนมีนวลหนา ด้านล่างสีแดงเข้ม เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีละ 10-16ผล ผลขนาดใหญ่กว้าง 4-5 ซม. ยาว 11-12 ซม. ก้านผลยาว ลักษณะคล้ายกล้วยน้ำว้า แต่ปลายผลลีบลงมากกว่าและเห็นเหลี่ยมชัดเจน เปลือกหนา เมื่อสุกมีสีเหลือง อมน้ำตาล มีนวลหนา เนื้อสีส้มหยาบ กล้วยหักมุก มี 2 ชนิดคือ หักมุกมีนวล และ หักมุกเขียว (ไม่มีนวล) ชนิดมีนวลกลายมาจากหักมุกเขียว แต่มีลักษณะที่ดีกว่า ตามรูป จึงถูกคัดเลือกไว้เป็นพันธุ์ปลูก ส่วนหักมุกเขียว ผิวเปลือกมีสีดำประปราย เนื้อไม่ค่อยแน่น บางครั้งพบการกลายในเครือเดียวกันมีทั้ง 2 ชนิด

 

11. กล้วยเทพรส

เป็นกล้วยที่มีลำต้นสูง ใบใหญ่คล้ายกล้วยหักมุก กาบลำต้นสีเขียว มีประดำบริเวณโคนกาบใบ และก้านใบมีร่องแคบ ใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบมีนวล ผลขนาดใหญ่เป็นเหลี่ยม มีนวลดูเป็นสีเทา และมีแนวโน้มที่จะไม่มีดอกตัวผู้ หรือปลีหลุดหายไปหลังจากติดผลแล้ว ถ้าเครือนั้นมีดอกตัวผู้ ผลก็มีการพัฒนาต่อไปเช่นเดียวกับกล้วยอื่นๆและต้องตัดปลีทิ้ง ดังนั้น กล้วยเทพรสจึงพบว่ามีจำนวนหวี 2-3 หวี แล้วปลีหลุดหายไป หรือมีจำนวนหวี 5-7 หวี และต้องตัดปลีทิ้ง ทั้งนี้ สุดแล้วแต่ว่าดอกตัวผู้จะมีการพัฒนาต่อไปหรือไม่ ผลกล้วยมีก้านผลค่อนข้างยาว ตามรูป ช่อดอกสำหรับชนิดปลีหายจะชี้ขึ้นเล็กน้อย และค่อนข้างสั้น ส่วนชนิดมีปลี ช่อดอกจะโค้งลงเช่นเดียวกับกล้วยหักมุก ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองไพล เนื้อไม่ค่อยแน่น รสหวานเย็นหอมเล็กน้อย ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนจะมีรสหวาน

12. กล้วยพม่าแหกคุก

ลักษณะทั่วไปของใบและกาบใบสีเขียวจัดกว่ากล้วยน้ำว้า สูงราว 4-5 เมตร จำนวนหวีประมาณ 16 หวี แต่ละหวีมีขนาดใหญ่ราวหนึ่งเท่าครึ่งของกล้วยน้ำว้าขนาดใหญ่ ผลค่อนข้างเป็นเหลี่ยม มีขนาดยาวกว่ากล้วยน้ำว้า ราวหนึ่งเท่าครึ่งเช่นกัน ผลเมื่อสุกเนื้อค่อนข้างเละ

13. กล้วยแดง หรือ กล้วยนาคพม่า

ลักษณะลำต้นคล้ายกล้วยนาค มีกาบก้านใบสีแดง มีผลยาวคล้ายกล้วยหอมแต่สีเหมือนกล้วยนาค รสชาติคล้ายกล้วยนาคคือกล้วยหอมผสมกล้วยไข่ รสเย็นหวาน

14. กล้วยงาหมู หรือ กล้วยนมสาว กล้วยน้ำญิ่ปุ่น
เป็นกล้วยพื้นเมืองของภาคเหนือ ลำต้นขนาดกลาง กาบก้านใบสีชมพูอมแดง เมื่อสุกรสชาติจะหวานหอม ซึ่งใชกินกับข้าวเหนียวแทนมะม่วงได้ เป็นกล้วยที่ให้หน่อน้อย เพียงปีละ 3-4 หน่อเท่านั้น ยังไม่แพร่หลายนัก

 

15. กล้วยตีบคำ

ลำต้นสูงไม่เกิน 3.5 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอ่อน มีประดำเล็กน้อย ก้านใบมีร่องค่อนข้างแคบ เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกไม่มีขน เครือหนึ่งมี 6-7 หวี หวีละ 16-18 ผล ผลมีขนาดเล็ก ก้านผลสั้น รูปร่างเป็นเหลี่ยมเห็นชัดเจน มีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ การเรียงตัวของผลไม่เป็นระเบียบ โดยผลที่อยู่แถวบนและแถวล่างจะแยกอ้าออกจากกัน ผลสุกมีรสหอมหวาน ไม่นิยมปลูกกันเนื่องจากการตกเครือช้ามากกว่า 1 ปี บางทีเรียก กล้วยตีบ (ผลสุกมีสีเหลืองดั่งทองคำสวยงามมาก)

16. กล้วยตานี

ลำต้นสูง 3.5-4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. สีเขียวไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียว ไม่มีร่อง ใบสีเขียวเป็นมัน มีความเหนียวมากกว่ากล้วยพันธุ์อื่นๆ ก้านช่อดอกสีเขียวไม่มีขน ใบประดับรูปร่างค่อนข้างป้อม มีความกว้างมาก ปลายมนด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับการขึ้นจะตั้งฉากกับช่อดอกและไม่ม้วนงอ ใบประดับแต่ละใบซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ 8 หวี หวีละ 10-14 ผล ผลป้อมขนาดใหญ่มีเหลี่ยมเห็นชัดเจน ลักษณะคล้ายกล้วยหักมุกแต่ปลายทู่ ก้านผลยาว ผลสุกสีเหลืองรสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดใหญ่สีดำ

17. กล้วยเสือพราน

เป็นกล้วยป่า มีลำต้นเทียมสูง 0.5-2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 ซม. กาบใบมีปื้นสีม่วง ใบกว้าง 25-35 ซม. ยาว 90-150 ซม. สีเขียวและมีนวล ตามรูป

ก้านใบยาว 30-70 ซม. ช่อดอกตั้ง ยาว 60 ซฒ. หรือมากกว่า ก้านดอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ดอกตัวเมียสีขาวหม่น ปลายสีเขียว เรียงชิดกัน 3-8 แถว แถวละ 2-4 ดอก ใบประดับกว้าง 4.5 * 15 ซม. สีม่วง ปลายสีเขียว อาจหลุดร่วงไปก่อน ดอกตัวผู้สีเหลือง ยาว 4 ซม. ผลตรงสีน้ำตาลดำ คล้ายลายที่ใบ ไม่นิยมนำมารับประทานเนื่องจากมีขนาดเล็กมาก

 

18. กล้วยผา

เป็นกล้วยที่มีเสน่ห์ สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นเสมอ แหล่งใหญ่ที่พบกล้วยผาคือ เทือกเขาด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะทางกาญจนบุรี กล้วยผาแพร่พันธุ์โดยเมล็ด เมื่อผลสุกมีนกกินผลแล้วถ่ายเมล็ดทิ้งไว้ในหลายๆที่ บางแห่งไม่เหมาะกับการเจริญเติบโต แต่กล้วยผาก็โตได้

มีลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว กาบใบซ้อนกันโดยรอบ ลักษณะคล้ายลำต้นอ่อนของปาล์ม สูง 30-60 ซม. จนถึง 1-2 เมตร ปลีหรือดอกตั้งตรงในระยะเวลา 10-15 วัน จากนั้นจะโค้งงอประมาณ 90 องศา กาบปลีสีแดงครั่งอ่อนและเขียวอ่อน อายุการบาน 2-3 เดือน ผลมีขนาดเล็ก ผลสุกกินได้ รสหวาน กลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดอย่างเดียว

กล้วยผาตามธรรมชาติเจริญเติบโตเฉพาะฤดูฝน หน้าแล้วกล้วยจะทิ้งใบ ครั้นฝนใหม่มาเยือนจะแตกใบอีกครั้ง ตั้งแต่เมล็ดงอกจนถึงสร้างดอกได้ ใช้เวลา 3 ปี

19. กล้วยนวล หรือ กล้วยโทน

ปลูกมากทางภาคอีสานเหนือ ลำต้นมีสีเขียวนวลหม่นๆ ใบสีเขียวนวล โคนต้นกลมใหญ่ จากนั้นลำต้นค่อยๆเรียวขึ้นถึงปลายลำต้น ซึ่งจะเล็กกว่าลำต้นมองเห็นได้ชัดเจน ดูแล้วคล้ายปาล์มขวดสูงเต็มที่ราว 3 เมตร ช่อดอกใหญ่ โน้มลงเหมือนกล้วยน้ำว้า ใบประดับคล้ายกล้วยผาแต่มีสีเขียว เมื่อปลีเริ่มออก จะมีกาบปลีหรือกาบหุ้มดอกออกมาคลุมส่วนที่เป็นหวีทุกหวี ดูภายนอกเหมือนระฆังคว่ำครอบปลี รอบหวีกล้วยทุกระยะจนกว่าจะสุดเครือ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนผลจึงเริ่มสุก ผลสุกรับประทานได้มีกลิ่นหอม แต่เมล็ดมาก

กาบใบตากแห้งจะเหนียวมาก ในอดีตเกษตรกรนำมามัดหมี่เส้นไหม กล้วยโทนขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด เพราะไม่แตกหน่อ อายุประมาณ 1-2 ปี

20. กล้วยแคระ

เป็นกล้วยที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เลี้ยงดูเพื่อความสวยงาม ตามรูป เลี้ยงยากเนื่องจากจะเกิดโรคใบจุดและจะทำให้เน่าได้ง่าย

21. กล้วยหิน

เป็นกล้วยพื้นเมืองจากทางใต้ แต่ได้นำมาปลูกทางภาคกลางและภาคอื่นๆ นานแล้ว เป็นกล้วยที่ใช้ต้มรับประทานจะมีรสชาติอร่อยมาก ลำต้นสีเขียวสูงใหญ่ ตามรูป

กลับไปหน้า ต้นไม้