บทนำ

ความสำคัญและที่มาของการศึกษา
          มวนน้ำจืดเป็นแมลงน้ำในอันดับ Hemiptera ซึ่งเป็นแมลงน้ำกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง (Fitter และ Manuel, 1986) พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำโดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่ง มีน้อยชนิดที่พบบริเวณน้ำไหลแรง นอกจากนี้อาจพบอยู่ในบ่อน้ำพุร้อน บ่อที่มีพืชขึ้นปกคลุม มีทั้งชนิดที่อยู่ในน้ำและบริเวณริมฝั่ง (McCafferty, 1981) โดยทั่วไปตัวอ่อน (nymph) และตัวเต็มวัย (adult) ของมวนน้ำจืดจะอาศัยและเคลื่อนที่อยู่บนผิวน้ำ (Fitter Manuel, 1986) เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและน้ำมีแรงตึงผิว (Leyi, Pingping, Guoquing Shuzhi, 1984) ที่สำคัญขาของมวนน้ำจืดมีขนขนาดเล็กที่เรียกว่า pile อยู่ที่ tarsi และ tibia (Polhemus, 1988) มวนน้ำจืดเป็นตัวห้ำ (predatory) ที่มีประโยชน์ในการควบคุมศัตรูธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ มีปากแบบเจาะดูด ใช้ดูดกินของเหลวจากลำตัวของเหยื่อ
          การศึกษาการกระจายตัวและชนิดของมวนน้ำจืดได้มีการศึกษาอย่างแพร่หลายในทวีปอเมริกาและยุโรป ส่วนทวีปเอเชียมีรายงานการศึกษาในประเทศมาเลเซีย (Cheng และ Fernando, 1969) สิงคโปร์ (Fernando และ Cheng, 1963; Cheng, 1967) สาธารณรัฐประชาชนจีน (Leyi, Pingping, Guoquing และ Shuzhi, 1984) และอินเดีย (Tonapi, 1957; Tonapi และ Karandikar, 1961 อ้างตาม Cheng, 1967) สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฏว่ามีรายงานการศึกษาแต่อย่างใดอาจเนื่องจากการขาดแคลนเอกสารประกอบการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน ดังนั้นการศึกษาความหลากชนิดของมวนน้ำจืด แหล่งที่อยู่อาศัยย่อย และปัจจัยที่มีผลต่อการกระจายของมวนน้ำจืดในลำธารสาขาย่อยของลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในครั้งนี้ จะทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานด้านความหลากชนิดของแมลงน้ำกลุ่มนี้ในพื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งความสัมพันธ์ของปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการกระจายของมวนเหล่านี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัยด้านอื่น ๆ ในอนาคต
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
          1. เพื่อศึกษาความหลากชนิดของมวนน้ำจืดในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
          2. เพื่อศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยและปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการกระจายของมวนน้ำจืดในลำธารดังกล่าว

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          1. ทำให้ทราบความหลากชนิดของมวนน้ำจืดในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
          2. ทำให้ทราบแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยของมวนน้ำจืดแต่ละชนิดในลำธารดังกล่าว
          3. ทราบปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการกระจายของมวนน้ำจืดในลำธารดังกล่าว
          4. สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาเกี่ยวกับมวนน้ำจืดของประเทศไทย

ขอบเขตการศึกษา
         ศึกษาความหลากชนิดและการกระจายของมวนน้ำจืดในลำห้วยหญ้าเครือ และลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว พร้อมทั้งศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยย่อย และปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อการกระจายของมวนน้ำจืด ในภาคสนามเป็นเวลา 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540
         ทำการเก็บตัวอย่างมวนน้ำจืดเป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มจากเดือนเมษายน 2540 ถึงเดือนกรกฏาคม 2540 จากนั้นจึงทำการศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยของมวนน้ำจืดแต่ละชนิด (เริ่มจากเดือนพฤษภาคม 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540) ข้อจำกัดของการศึกษามวนน้ำจืดในครั้งนี้คือ จะต้องทำการเก็บตัวอย่างมวนน้ำจืดในสภาพที่แหล่งน้ำอยู่ในสภาพปกติ ถ้าหากช่วงเดือนใดมีน้ำหลากและน้ำขุ่นมากกว่าปกติก็จะไม่สามารถศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยและไม่สามารถวัดคุณภาพของน้ำได้