วิธีการศึกษา
สถานที่ทำการศึกษา
          ทำการศึกษาในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวทุกเดือนเป็นเวลา 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540 ระยะทางของแต่ละลำห้วยประมาณ 1,000 เมตร ลำห้วยหญ้าเครือ บริเวณที่ทำการเก็บตัวอย่างมีต้นไม้ยืนต้นอยู่ 2 ฝั่ง ทำให้แสงส่องผ่านได้น้อย พื้นลำธารประกอบด้วยส่วนที่เป็นลานหิน (bed rock) และกรวด พื้นของลานหินไม่เรียบ มักมีพวกพืชล้มลุกขึ้นปกคลุมอยู่กลางลำธาร ลำห้วยพรมแล้งบริเวณที่ทำการเก็บตัวอย่างมีต้นไม้ยืนต้นและต้นไผ่อยู่ 2 ฝั่ง แต่บริเวณที่เป็นน้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตกเป็นลานหินกว้างอยู่ห่างจากฝั่งจึงทำให้แสงส่องถึงลำธารได้อย่างเต็มที่ พื้นลำธารประกอบไปด้วยลานหินเรียบ ก้อนหินขนาดใหญ่ ก้อนหินขนาดเล็ก และมีกรวดในบางพื้นที่



ลำห้วยหญ้าเครือ

ลำห้วยพรมแล้ง
วิธีการเก็บและศึกษาตัวอย่าง
          ศึกษาชุมชนและแหล่งอาศัยย่อยของมวนน้ำจืด โดยทำการเก็บตัวอย่างมวนน้ำจืดจาก 2 ลำห้วย คือ ลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้ง
          ศึกษาชุมชนมวนด้วยวิธีเชิงกึ่งปริมาณ ในลำห้วยหญ้าเครือและลำห้วยพรมแล้งเป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้งระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฏาคม 2540 โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างมวนจากผิวน้ำและในน้ำด้วยสวิง ลำห้วยละ 7 ซ้ำ แต่ละซ้ำใช้สวิงตัก 4 ครั้ง และรวบรวมตัวอย่างของแต่ละซ้ำเข้าด้วยกันเก็บเฉพาะตัวเต็มวัยดองใส่ขวดที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซนต์
          ศึกษาแหล่งอาศัยย่อยของมวนในลำห้วยทั้งสอง โดยการเก็บตัวอย่างด้วยสวิงในทุกแหล่งอาศัยใส่ในขวดที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซนต์ เป็นเวลา 8 เดือน
          เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2540 แหล่งอาศัยย่อยที่ทำการศึกษามีทั้งแอ่งน้ำขนาดเล็กใกล้ลำธารซึ่งจะถูกน้ำท่วมถึงเฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น และแหล่งอาศัยย่อยในลำธาร อันได้แก่ บริเวณน้ำไหลแรง บริเวณน้ำไหลช้า บริเวณที่น้ำนิ่ง ด้านใต้ซอกหินขนาดใหญ่ บริเวณที่เกิดเป็นร่มเงาอันเกิดจากการปกคลุมของพืชบนผิวน้ำและบริเวณรากของพืชที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งหรือขึ้นบนลานหินในลำธาร บริเวณพื้นที่เป็นกรวด ตะกอนและพื้นที่มีการสะสมของเศษซากใบไม้ จากนั้นนำตัวอย่างมาตรวจเอกลักษณ์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้เอกสารของ Fernando และ Cheng (1963); Fernando และ Cheng (1969); Lehmkuhl (1979); Leyi, Pingping, Guoquing และ Shuzhi (1984) และ Polhemus (1988)
          บันทึกปัจจัยทางกายภาพคือ ความเร็วของกระแสน้ำ (เซนติเมตรต่อวินาที) และความลึกของน้ำ (เซนติเมตร) โดยใช้ Flow Velocity Indicator ยี่ห้อ Gurley Precision Instruments รุ่น Model 1100 วัดอุณหภูมิของน้ำ ค่าออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen; DO) ปริมาณของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids; TDS) และการนำไฟฟ้า (Conductivity) โดยใช้ Conductivity Meter ยี่ห้อ YSI Incorporated รุ่น YSI Model 57 Operating Instructions วัดความเป็นกรดด่าง (pH) ด้วย pH Meter แบบปากกาในทุกสถานีที่เก็บตัวอย่าง วัดอุณหภูมิอากาศทุกเดือนในบริเวณลำห้วยด้วยเทอร์โมมิเตอร์ พร้อมทั้งบันทึกสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของแหล่งน้ำด้วย


การวิเคราะห์ข้อมูล
          ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชุมชนมวนและแหล่งอาศัยย่อยของมวน ใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) เพื่ออธิบายความผันแปรของปัจจัยทางกายภาพของน้ำ จำนวนชนิดและจำนวนตัวของมวน วิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางกายภาพของน้ำแต่ละตัวแปร และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางกายภาพ ลักษณะแหล่งอาศัยกับกลุ่มของมวน โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for Social Science) ใช้กระบวนการสถิตเชิงซ้อน (Multivariate Analysis) เช่น Clustering และ Ordination ตามโปรแกรม PATN (Belbin, 1995) เพื่อวิเคราะห์แบบแผนการจัดกลุ่มและการจัดอันดับสถานีต่าง ๆ ตามข้อมูลด้านปัจจัยทางกายภาพและลักษณะแหล่งอาศัยของสถานีต่าง ๆ และวิเคราะห์ว่าปัจจัยทางกายภาพของน้ำและแหล่งอาศัยลักษณะใดที่มีผลต่อการกระจายของมวนน้ำจืดในแต่ละสถานี ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เหล่านี้จะถูกทดสอบว่า มีการกระจายเป็นแบบปกติหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลใดที่ไม่กระจายแบบปกติ ข้อมูลนั้นจะถูกแปลงด้วย log (x+1) เพื่อปรับข้อมูลให้มีการกระจายแบบปกติก่อนนำมาวิเคราะห์