วานรพงศ์ วานรที่ปรากฎนามในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ มีทั้งสิ้น 38 ตัว แบ่งเป็นพญาวานร 11 ตัว วานรสิบแปดมงกุฎ 18 ตัว วานรเตียวเพชร 9 ตัว วานรจังเกียงและเขนลิง ไม่ปรากฎว่ามีกี่ตัวและมีชื่ออะไรบ้าง มีบทบาทมากน้อยตามลำดับ วานรเหล่านี้โดยมากเป็นบุตร เทพเทวดา หรือเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าและเป็นการอวตารลงมาเพื่อช่วยพระรามปราบเหล่าอสูรอธรรม





ชามพูวราช(ชมพูหมี) หรือนิลเกสร-พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีแดงชาด สวมมงกุฎชัย ในตอนที่แปลงกายเป็นหมีมีชื่อว่าชมพูหมี หัวโขนทำเป็นหน้าหมี สวมเทริดยอดน้ำเต้า
ตามประวัติกล่าวว่าพญาวานรนี้มีกำเนิดจากไม้ไผ่ซึ่งผุดขึ้นขณะฤาษีสุขวัฒนบำเพ็ญฌาณ ฤราษีได้นำไปถวายพระอิศวร ทรงนำไปทำธนู ครั้งโก่งะนุหักเป็น 2 ท่อน ธนูเกิดเป็นพญาอสูรชื่อเวรัมภ์ ปลายธนูเกิดเป็นพญาวานรชื่อนิลเกสร ชื่อ ชามพูวราช
บทบาทสำคัญคือ เป็นผู้แนะนำให้พระรามจองถนนไปกรุงลงกาเพื่อสร้างพระเกียรติยศให้ปรากฎตอนอินทรชิตทำพิธีชุบศรนาคบาศก็เป็นผู้ไปทำลายพิธีโดยแปลงกายเป็นหมี



หนุมาน-พญาวานร
ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้า สีขาวผ่อง หัวโล้น สวมมาลัยทอง มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดานปากนอกจากนี้ยังมีการทำหัวโขนหน้าหนุมานอีกหลายแบบ คือ ตอนแผลงฤทธิ์มี 4 หน้า เป็นหน้าปกติ 1 หน้าและมีหน้าเล็ก 3 หน้าที่ด้านหลัง ตอนทรงเครื่อง (อาสาพระรามล่อลวงทศกัณฐ์) สวมชฎายอดกาบไผ่เดินหนของอินทรชิตตอนครองเมืองสวมมงกุฎยอดชัย ตอนออกบวชสวมชฎายอดฤษี นอกจากนี้ยังมีการทำหน้าหนุมานเป็นหน้ามุกอีกด้วย ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 กล่าวว่าหนุมานเป็นบุตรพระพายกับนางสวาหะ เกิดวันอังคาร เดือนสาม ปีขาล คลอดออกมาจากปากแม่ ตัวโตเท่ากับอายุสิบหกปี แผลงฤทธิ์เป็นสีสี่หน้าแปดมือ หาวเป็นดาวเป็นเดือน มีกุณฑลขนเพชรเขี้ยวแก้วถวายตัวต่อพระราม เป็นผู้ทำการสำคัญ ๆ หลายครั้งในศึกกรุงลงกา เมื่อเสร็จศึกพระรามประทานความชอบให้เป็นพระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพัฒน์พงศา ครองเมืองนพบุรี ได้นางบุษมาลี นางเบญจกาย นางสุพรรณมัจฉา นางวานริน และนางสุวรรณกันยุมาเป็นเมีย มีบุตรชื่อมัจฉานุ เกิดกับนางสุพรรณมัจฉา)และ อสูรผัต (เกิดกับนางเบญจกาย)






มัจฉานุ - พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีขาวผ่อง หัวโล้น สวมมาลัยทอง มัจฉานุ ตัวเป็นวานร หางเป็นปลา เป็นบุตรหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา ต่อมาได้เป็นบุตรบุญธรรมของไมยราพณ์ เมื่อหนุมานฆ่าไมยราพณ์ตายได้ตั้งมัจฉานุเป็นอุปราชเมืองบาดาล ต่อมาพระรามตัดหางที่เป็นปลาออก ตั้งให้เป็นพญาหนุราช ครองเมืองมลิวัน มีชายาชื่อนางรัตนมาลี



สุครีพ-พญาวานร

ลัษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีแดงเสน หรือสีแดงชาด สวมชฎายอดบัด(บางแห่งว่าชฎายอดเดินหน)
ตามประวัติกล่าวว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์กับยนางกาลอัจฉาต้องคำสาปจากฤาษีโคดมเช่นเดียวกับพญากากาศ บทบาทสำคัญ คือ อาสาทำให้เขาพระสุเมรุซึ่งเอียงด้วยรามสูรจับอรชุนฟาดให้ตั้งตรงตามเดิม ต่อมาได้ถวายตัวต่อพระรามและได้ครองเมืองขีดขินแทนพาลี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดทัพออกรบทุกครั้งในศึกกรุงลงกา เมื่อเสร็จศึกได้บำเหน็จความเป็นพญาไวยวงศามหาสุรเดช ได้นางดาราเป็นชขายาหลังจากพาลีตาย



องคต-พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากหุบสัณฐานปากคล้ายแพะสีเขียวมรกต หรือสีเขียวกลาง สวมมงกุฎสามกลีบ องคตเป็นบุตรพญาพาลีกับนางมณโฑ ฤาษีอังคตทำพิธีผ่าตัดออกจากครรภ์นางมณโฑ แล้วไปใส่ในท้องแพะ สุครีพนำถวายตัวต่อพระราม มีบทบาทในการเป็นทูตสื่อสารให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดา และฆ่าสี่เสนายักษ์ตาย ครั้นเสร็จศึกได้ความดีความชอบเป็นพญาอินทรานุภาพ อุปราชเมืองขีดขิน



ท้าวมหาชมพู - พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีขาบ หรือสีดังปีกแมลงทับ สวมชฎาหรือมงกุฎยอดชัย มีฤทธิ์เดชมากไม่ยอมไหว้ใครนอกจากพระนารายณ์และพระอิศวร ปกครองเมืองชมพู เป็นพันธมิตรกับพญากากาศ เมืองขีดขิน ท้าวมหาชมพูนี้มีมเหสีชื่อนางแก้วอุดร ไม่มีบุตรธิดา ได้ถวายพลกรุงชมพูให้แก่พระราม เมื่อทราบว่าพระรามคือพระนารายณ์อวตาร

นิลพัท - พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีน้ำรัก หรือสีดำขลับ หัวโล้น สวมมาลัยทอง
เป็นบุตรพระกาลซึ่งพระอิศวรประทานให้ไปอยู่ช่วยกิจการบ้านเมืองของท้าวมหาชมพู บทบาทของนิลพัทในเรื่องรามเกียรติ์เป็นผู้คุมวานรเมืองชมพูจองถนนข้ามกรุงลงการ่วมกับหนุมาน ซึ่งคุมวานรเมืองขีดขิน เกิดทะเลาะวิวาทกัน พระรามลงโทษให้ไปรักษากรุงขีดขิน โดยส่งเสบียงแก่กองทัพเดือนละครั้ง อาสาเป็นทัพหน้าครั้งกบฏกรุงลงกา เสร็จศึกได้ศักดิ์เป็นพญาอภัยพัทวงศ์ อุปราชเมืองชมพู

นิลนนท์ - พญาวานร

ลักษณะหัวโขน หน้าวานรปากอ้าสีหงสบาท หรือสีหงเสนเจือเหลือง หัวโล้น สวมมาลัยทอง
ประวัติกล่าวว่าพญาวานรนี้เป็นบุตรพระเพลิง มีบทบาททำลายพิธีทศกัณฐ์ตั้งอุโมงค์ร่วมกับสุครีพและหนุมาน เสร็จศึกลงกาได้เป็นอุปราชเมืองชมพู เมื่อครั้งศึกพระพรตรบท้าวจักรวรรดิ นิลนนท์เป็นทูตสื่อสารเพื่อให้ยอมอ่อนน้อม การเจรจาความครั้งนี้ นิลนนท์ได้ทำการหักยอดปราสาทไปถวายพระพรต

 

Copyright March 2003. All Right Reserved. Contact US E-mail : Tula1407@hotmail.com