จากนิตยสาร สารคดี

ครูน้อย ทิมกุล

สองมือนี้เพื่อเด็กด้อยโอกาส

เด็กเล็ก ๆ ทั้งหญิงชายวัยก่อนเกณฑ์ จำนวนกว่า 30 ชีวิต กำลังกินอาหารกลางวันกันที่โต๊ะเก้าอี้ที่ใช้เรียนเมื่อครู่ หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงพากันไปวิ่งเล่นที่สนามหน้าบ้าน บ้างเล่นกันอย่างสนุกสนาน บ้างทะเลาะร้องไห้กันกระจองอแง วิ่งมาฟ้องคุณครู ยามนั้นเป็นเวลาบ่ายแล้ว แต่ภาระของ "ครูน้อย" นวลน้อย ทิมกุล ยังคงไม่จบสิ้น..

ผู้หญิงวัย 53 ปี เป็นชาวบ้านเต็มตัว ซื่อ จริงใจ และท่าทางเรียบง่ายธรรมดา คนนี้ จบเพียงชั้นมัธยมต้น เริ่มต้นเปิดโรงเรียนบ้านครูน้อย โรงเรียนเล็ก ๆ นอกระบบการศึกษา ที่ใต้ถุนบ้านของตน เพื่อสอนหนังสือเด็กด้อยโอกาส ลูกกรรมกรละแวกซอยจัดสรร ราษฎร์บูรณะ โดยเริ่มต้นจากศูนย์กับใจดวงแกร่งที่ไม่เคยท้อถอย

14 ปีของการทำงานสองมืออันโอบเอื้อของครูน้อยได้เลี้ยงดูปลูกฝังเด็ก ๆ รุ่นแล้วร่นเล่าถึง 1,000 กว่าชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันมีเด็ก ๆ อยู่ในความอุปการะของคุณครูทั้งหมด 70 คน เป็นเด็กก่อนวัยเรียนอายุตั้งแต่ 1-7 ขวบ 32 คน เด็กวัยเรียนอายุตั้งแต่ 8-15 ปี 38 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กพิการทางปัญญา 6 คน และเป็นเด็กที่พักอยู่ประจำ 9 คน

ครูน้อยเป็นนักสู้ชีวิต เธอมาจากครอบครัวยากจนผ่านการทำงานมาสารพัดเคยเป็นกรรมกรรับจ้างล้างจาน เป็นแม่ครัว เปิดร้านขายข้าวแกงของตัวเอง และเลี้ยงกล้วยไม้ ทำงานราชการและเป็นลูกจ้างบริษัทฝรั่ง จุดเริ่มต้นในการเปิดโรงเรียนเล็ก ๆ ของเธอเริ่มจากเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ครูน้อยป่วยเป็นเรคกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว ร่างกายท่อนล่างหมดความรู้สึก ต้องนอนอยู่กับที่ตลอด เงินทองที่มีอยู่หมดไปกับการรักษาตัว "เช้าขึ้มา สามีไปทำงาน เขาก็อ้มครูลงมาจากชั้นบนมานอนอยู่ใต้ถุนบ้าน โดยจ้างเด็กอายุ 8 ขวบ ไว้คอยหยิบของให้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ได้มีโอกาสพบปะเด็กๆ ที่ตะลอนๆ กันเป็นกลุ่มๆ พี่ๆ จูงน้อง กระเดียดใส่เอวบ้าง เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงาน เป็นกรรมกรในโกดัง เด็กๆ ก็เที่ยวเล่นลุยโคลน หาปลา จับตั๊กแตน และขโมยผลไม้ เจ้าของสวนบางแห่งเขาก็เอาไม้ไล่ตีและใช้หนังสติ๊กไล่ยิง พอเด็กมาขโมยผลไม้ที่สวนเรา เราก็เลยให้เด็กที่ดูแล เราอยู่ช่วยเก็บให้ จากนั้นเด็กๆ ก็มากันบ่อยๆ คงรู้สึกว่า เราเป็นน้าใจดี ความที่ครูเคยลำบากในชีวิต เมื่อเล็กๆ พ่อไปเป็นลูกจ้างของผู้มีอันจะกิน เราเห็นความแตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย บางทีอยากกินทอฟฟี่ อยากเล่นชิงช้า ก็ไม่มีให้กินให้เล่น สิ่งนี้ฝังอยู่ในใจครูมาตลอด

"ตอนหลังเด็กมากันเต็มบ้าน เรากำลังแห้งแล้ง ว้าเหว่ก็ได้เด็กเป็นเพื่อน มีความเพลิดเพลินสุขสดชื่นขึ้น เราก็เริ่มเล่านิทานให้พวกเด็กๆ ฟังเด็กๆ สนใจมาก จากนิทานเล่าก็มาเป็นนิทานอ่าน เราไม่มีนิทานก็ได้จากเรื่องที่ติดมากับนิตยสาร จากถุงกล้วยแขกบ้าง บางครั้งก็เป็นนิทานอีสปที่เราเคยเรียนมา"

ครูน้อยนอนเจ็บอยู่ 1 ปี 9 เดือน ครั้นพออาการป่วยทุเลาขึ้นบ้าง ความปรารถนาที่จะเห็นเด็กๆ ด้อยโอกาสเหล่านี้ได้เรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ก็เกิดขึ้น โรงเรียนเล็กๆ นอกระบบแห่งนี้จึงเกิดขึ้นตามประสายาก มีลุงแก่ๆ คนหนึ่งอยู่แถว บ้านมาช่วยดายหญ้าหากระดานดำมา และต่อโต๊ะเก้าอี้สำหรับเด็กนั่งเรียนอุปกรณ์การเรียนก็ไม่มี ต้องไปขอหางชอล์กจากโรงเรียนที่ครูเขาไม่ใช้แล้ว เปิดโรงเรียนขึ้นเมื่อปลายปี 2525 โดยเริ่มจากเด็ก 17 คน

เมื่อเริ่มต้นจากศูนย์แรกๆ เด็กๆ จึงต้องนำอาหารจากบ้านมากินเอง บางคนมีเพียงข้าวเหนียวก้อนแข็งๆ กับไข่ต้ม หรือปลาตัวเล็กๆ ปิ้งเด็กบางคนไม่มีข้าวกิน ครูต้องซื้อก๋วยเตี๋ยวมาแบ่งกันกิน เมื่อจำนวนเด็กมากขึ้น บางครั้งต้องซื้อข้าวทีละ ลิตรมาหุงหากินกัน รายได้ของครูน้อยมาจากสามีที่มีรายได้วันละเพียง 60-70 บาท แบ่งปันมาให้ครูใช้จ่ายวันละ 30-40 บาท ครูน้อยจึงหารายได้พิเศษด้วยการรับจ้างซักผ้าและรับชิ้นตัวต่อพลาสติก ซึ่งเป็นการ์ตูนตัวเล็กๆ ใส่ในถุงขนม และขอให้พ่อแม่ เด็กช่วยค่ากินอยู่ของเด็กวันละ 3 บาท ได้บ้างไม่ได้บ้าง ช่วงแรกหน้าฝนน้ำท่วมหนักครูน้อยต้องสอนหนังสือ ทำกับข้าวให้เด็กในน้ำ หนีตะขาบ หนีงูกันเป้นที่ลำบากลำบน

ช่วง 7 ปีแรก เด็กๆ ได้กินอิ่มบ้างไม่อิ่มบ้าง ต้องเชื่อข้าวปลาอาหารเขากิน น้ำไฟถูกตัด ภาระของครูน้อยเพิ่มมากขึ้น สำหรับเด็กโตที่ต้องเข้าโรงเรียนประถม มัธยม ก็เป็นภาระหนักที่ครูน้อยต้องยื่นมือไปรับผิดชอบทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า ค่าขนมไปกินที่โรงเรียน เพราะพ่อแม่เด็กบางคนไม่มีเงินพอจะส่ง

ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาครูน้อยยังคงยืนหยัดต่อสู้มาตลอด ไม่เคยท้อ โดยมีอนาคตของเด็กๆ เป็นเดิมพัน มีรอยยิ้มของเด็กเป็นกำลังใจ "เด็กๆ ก็เหมือนลูกเหมือนหลานของเรา เรากินอยู่ด้วยกันเหมือนๆ กัน ครูรักและอยากให้เด็กๆ ได้พบสภาพที่ดีงาม อยากช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นแม้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะพยายามทุ่มเทให้มากที่สุด บางครั้งเด็กๆ ที่ครูเคยเลี้ยงมา เขาจากไปนานแล้วก็ยังแวะเวียนมาเยี่ยมครู บางคนเอาเงาะมาให้ครู 3-4 ลูก ครูก็ดีใจแล้ว บางคนเอาพวงมาลัยมาให้ จนแห้งแล้วครูก็ยังเก็บไว้ ไม่ทิ้ง ครูจะอบรมเด็กๆ ให้มีคุณธรรมบอกเขาว่าเราอาจจะเกิดเป็นลูกคนจน เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกเป็นคนดีได้"

ครูน้อยโชคดีที่มีครอบครัวเข้าใจ สามีและลูกชาย 2 คนของครูรักและเข้าใจเด็กๆ สนับสนุนการทำงานของครูมาแต่ต้นจนปัจจุบันหากผู้อ่านท่านใดต้องการสนับสนุนเป็นกำลังใจให้แก่ครูน้อย และช่วยเหลือเด็กๆ ด้อยโอกาสเหล่านี้ บริจาคได้โดยส่ง ธนาณัติสั่งจ่ายนวลน้อย ทิมกุล 319 หมู่ 1 ซอยจัดสรร ราษฎร์บูรณะ กทม. 10140 หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ชื่อ "กองทุนบ้านครูน้อย" บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 117-2-157882 ********************************************************************************************************************

บันทึกบางส่วนจากครูน้อย

และเมื่อเรื่องราวได้แพร่หลายออกไป ความช่วยเหลือ จากผู้ที่ทราบเรื่องราวก็ได้มี เข้ามาช่วยทั้งด้านทุนทรัพย์และสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค เสื้อผ้าและร่วมช่วยเหลือปรับปรุงสถานที่ยกระดับ เทพื้นให้พันจากสภาพน้ำท่วมขังดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทุกอย่างมันดีขี้น แต่เราก็ยังไม่พิงพอใจภาคภูมิใจเลย เพราะทุกสิ่งมันเหมือนฉากการแสดงที่หลาย ๆ คนมาช่วยแต้มสีสันและแต่งเติมให้ มันไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่แท้จริงของเรา ชีวิตที่ยากจนขัดสนมันคือเราต่างหาก เรารู้สึกอายที่เรามีตู้เย็น มีโทรทัศน์หลายเครื่อง มีเตาแก้สมีการก่อสร้างต่อเติมตรงนั้น ตรงนี้ ซื่งมีคนอื่นมาช่วย เราไม่มีปัญญาหรอกที่จะลงทุนทำในสิ้งนั้น...

ทุกอย่างดีขึ้น พัฒนาขึ้นในทางวัตถุ แต่ใครจะทราบบ้างว่า การหมุนเวียนใช้จ่ายยังคงอยู่สภาพเดิม ในสภาพที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังขาดแคลน มีหนี้สินปีละมาก ๆ เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้นโครงงานต่าง ๆ ของเราก็จะก้าวโตตามเด็ก จากเด็กที่เราเลี้ยงและสอนให้ที่บ้าน เราก็เขยิบที่จะส่งให้เขาได้เรียนในโรงเรียนสามัญ เมื่อเขาอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเข้าเรียนและพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องไม่มีปัญญาจะส่งเสีย ขณะนี้ เราจัดส่งเรียนอยู่ 30 คน โดยอุปการะค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

และยังมีสอนงานด้านตัดเย็บให้กับเด็กที่ มีปัญหาด้านสมอง บางคนที่มีปัญหาครอบครัวมากจนไม่มีทางแก้ไข เราก็อนุเคราะห์รับเด็กเหล่านี้ มาพักอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ มีประมาณ 12 คน ถ้าจะถามว่าได้อะไรจากการดำเนินงานนี้ สิ่งที่ได้ก็คือ ความสุข ความสุขที่ได้สร้างสุขให้แก่เด็กให้เจาได้มีที่กิน ที่เล่น

และยิ่งใหญ่ที่สุดในความสุขที่ได้รับ คือ การที่เราได้ช่วยให้เด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งมีทีท่าว่าจะหมดโอกาสในการศึกษา เล่าเรียน แต่เราก็ได้เป็นทุ่นให้เขาเกาะ เพื่อเขาจะได้มีโอกาสเรียน มีความรู้ มีงานทำเช่นคนอื่น ๆ และตัวเองก็ไม่ต้องเกาะผู้อื่น เป็นภาระแก่สังคม สำรับคนยากจน เราคือ ผู้มีพระคุณแก่เขาและลูก ๆ แต่สำหรับปฏิกริยาของบ้านใกล้เรือนเคียงกับเรา เราก็คือคนไม่ดีที่ทำให้ชุมชนของเขา อึกทึกคึกโครม เราทำให้มีคนจน มาเดินสวนทางกับเขา เกะกะ เข้งขาเขา เขาปิดทางครึ่งนึงเพื่อไม่ให้คนจนเดินผ่านบ้านเขา แต่เขากลับมาเดินผ่านบ้านเรา แปลกดีไหม...........นวลน้อย ทิมกุล