พระไตรปิฎกสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ยิ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญสำคัญต่อประเทศชาติ ถ้าเทียบกับเรื่องที่ชาวบ้านพอจะเข้าใจ พระไตรปิฎกนั้นมีความสำคัญต่อศาสนิกชน ยิ่งกว่าที่รัฐธรรม นูญมีความสำคัญสำหรับพลเมือง คงไม่มีใครพูดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงตำราเล่มหนึ่ง หรือว่าเมื่อขึ้นศาลมีการ ยกรัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาตรานี้ขึ้นมากล่าว หรือแม้แต่ยกกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งมาตรานั้นมาตรานี้ขึ้น มาอ้าง คงไม่มีใครพูดว่า กฎหมายมาตรานั้นนี้ รัฐธรรมนูญมาตรานั้นนี้เป็นเพียงความคิดเห็น ที่ว่าพระไตรปิฎกสำคัญยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ สำหรับศาสนิกชน เพราะรัฐธรรมนูญนั้น สามารถเปลี่ยน แปลงไปโดยมติของประชาชนที่ผ่านทางองค์กรนิติบัญญัติตามยุคตามสมัย แต่พระไตรปิฎกไม่อาจจะเปลี่ยน แปลงได้ เพราะเป็นคำสอนขององค์พระศาสดา และพระศาสดาก็ปรินิพพานแล้ว ถ้าพระไตรปิฎกสูญหาย คำ สอนของพระพุทธเจ้าก็สูญสิ้น การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรายอมรับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งอยากรู้และนำ ความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมาปฏิบัติ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการที่สุด จึงได้แก่คำสอนของ พระองค์ เมื่อพระองค์ ปรินิพพานแล้ว เราจึงถือเป็นสำคัญที่สุดว่าจะรักษาคำสอนหรือคำตรัสของพระองค์ที่เรียกว่าพุทธพจน์ไว้ให้แม่น ยำบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดได้อย่างไร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าถึงคำสอนของพระองค์ได้ต่อไป เมื่อเรารักษาคำสอนของพระองค์ไว้ดีที่สุดแล้ว เราก็ใช้คำสอนของพระองค์นั้นเป็นมาตรฐาน เป็น เกณฑ์ตัดสินความเชื่อและการปฏิบัติที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาต่อไป ดังนั้น ในเรื่องธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้ แทนที่จะคิดว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีแต่ว่าจะต้องรักษา ไว้ให้บริสุทธิ์ ให้ตรงตามเดิมเท่าที่เป็นไปได้ อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติเพียงในด้านวินัย เช่น กำหนดสิทธิเสรีภาพ หน้าที่พลเมือง และหลักเกณฑ์ในการ อยู่ร่วมกันในสังคมเป็นต้น แต่พระไตรปิฎกนั้นบรรจุไว้ทั้งธรรมและวินัย คือทั้งแบบแผน ระเบียบความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ และทั้งหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าศาสนิกชนปฏิเสธพระไตรปิฎก หรือไม่ยอมรับพระไตรปิฎกก็คือไม่ยอมรับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบนั้น เช่น แบบเถรวาท แบบมหายาน แล้วแต่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกฉบับไหน ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุ การปฏิเสธไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ก็คือการปฏิเสธไม่ยอมรับความเป็นพระภิกษุ ของตนนั่นเอง เพราะเหตุว่าการบวชของภิกษุนั้นก็ดี สิ่งที่เรียกว่า ศีล 227 ข้อ คือสิกขาบท 227 ในพระวินัยก็ดี ที่ พระภิกษุนั้นรักษาอยู่ ก็มาจากพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก เมื่อภิกษุไม่ยอมรับพระไตรปิฎก ก็คือปฏิเสธการ บวช และปฏิเสธศีล 227 เป็นต้นของตนนั้นเอง ที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ พระพุทธศาสนาให้สิทธิและเสรีภาพ โดยสมบูรณ์ แม้แต่สิทธิและเสรีภาพที่จะปฏิเสธพระไตรปิฎกและปฏิเสธพระพุทธเจ้า แต่ข้อสำคัญในความเป็น ประชาธิปไตย ก็คือความตรงไปตรงมา เมื่อเราไม่ยอมรับพระไตรปิฎกนี้ เราไม่ยอมรับการบวชเป็นพระภิกษุ แบบนี้ ก็จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ว่าเรายังเอารูปแบบที่เป็นบัญญัติในพระไตรปิฎกนั้นมาใช้ ยิ่งหลักการที่สูงขึ้นไปอย่างเรื่องนิพพานก็ยิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะว่าวินัยที่รักษานั้นก็เพื่อที่จะเป็น ฐานให้เข้าถึงจุดหมายนั้นเอง ถ้ารักษาหลักการอย่างนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดไว้ไม่ได้ การรักษาความ ประพฤติปฏิบัติเบื้องต้นเช่นวินัยก็แทบจะหมดความหมาย