ถ้าหลักคำสอนยังมีมาตรฐานรักษา พระพุทธศาสนาก็อยู่ไปได้ถึงลูกหลาน แท้ที่จริง บุคคล 2 ประเภทนี้ เท่ากับประกาศตัวอยู่โดยนัยว่า มิได้นับถือพระพุทธศาสนา มิต้องพูดถึง ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือผู้้บวชอยู่่ในพระธรรมวินัย กล่าวคือ 1. ผู้กล่าวอ้างว่า ตนปฏิบัติได้เอง โดยไม่ต้องอาศัย ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องสดับคำสอนของพระพุทธเจ้า 2. ผู้ปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่มีมาถึงเราในพระไตรปิฎก ที่พูดทั้งนี้มิใช่หมายความว่าจะต้องยอมรับคำและความทุกอย่างในพระไตรปิฎก โดยมิให้สงสัยหรือไต่ ถาม ในพระพุทธศาสนาไม่มีการผูกขาดเช่นนั้น เพราะท่านเปิดเสรีภาพให้แม้แต่ที่จะปฏิเสธพระไตรปิฎก และ ปฏิเสธพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติการอย่างซื่อตรง โดยสละภิกขุภาวะหรือไม่อยู่ในพระพุทธศาสนาต่อไป แต่ สำหรับผู้ที่ยังนับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องปฏิบัติการตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การนับถือพระพุทธ ศาสนา แปลว่านับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงต้องเพียรหาคำสอนของพระองค์ผู้เป็นพระศาสดาในพระไตร ปิฎก เมื่อสงสัยคำหรือความใดแม้แต่ในพระไตรปิฎก ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อทันทีอย่างผูกขาด แต่สามารถตรวจ สอบก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักทั่วไปไว้แล้ว ซึ่งสำหรับพวกเราบัดนี้ก็คือการใช้คำสั่งสอนในพระไตร ปิฎก ตรวจสอบแม้แต่คำสั่งสอนในพระไตรปิฎกด้วยกันเอง กล่าวคือ หลักมหาปเทส 4 ได้แก่ ที่อ้างอิงใหญ่ หรือ หลักใหญ่สำหรับใช้อ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียง เริ่มแต่หมวดแรก ที่เป็นชุดใหญ่ ซึ่งแยกเป็น 1. พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง) 2. สังฆาปเทส (ยกเอาสงฆ์ทั้งหมู่ขึ้นอ้าง) 3. สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง) 4. เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง)1 (ที.ม. 10/113/104; องฺ.จตุกฺก. 21/180/227) นอกจากนั้น ถ้าเป็นปัญหาหรือข้อสงสัยที่จำกัดลงมาในส่วนพระวินัย ก็สามารถใช้หลักมหาปเทส 4 ชุด ที่ 2 ตรวจสอบ ซึ่งจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้ เพราะนักวินัยทราบกันดี (ดู วินย. 5/92/131) เมื่อพิจารณากว้างออกไป โดยครอบคลุมถึงคำสอนรุ่นหลังๆ หรือลำดับรองลงมา ท่านก็มีหลักเกณฑ์ที่ จะให้ความสำคัญในการวินิจฉัยลดหลั่นกันลงมา โดยวางเกณฑ์วินิจฉัยคำสอนความเชื่อและการปฏิบัติ เป็น 4 ขั้น คือ (ดู ที.อ.2/172/; วินย.อ.1/271; วินย.ฎีกา 3/352) 1. สุตตะ ได้แก่ พระไตรปิฎก 2. สุตตานุโลม ได้แก่ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย) 3. อาจริยวาท ได้แก่ อรรถกถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกาด้วย) 4. อัตตโนมติ ได้แก่ มติของบุคคลที่นอกจากสามข้อต้น "สุตตะ" คือพุทธพจน์ที่มาในพระไตรปิฎกนั้น ท่านถือเป็นมาตรฐานใหญ่ หรือเกณฑ์สูงสุด ดังคำที่ว่า " แท้จริง สุตตะ เป็นของคืนกลับไม่ได้ มีค่าเท่ากับการกสงฆ์ (ที่ประชุมพระอรหันตสาวก 500 รูป ผู้ทำ สังคายนาครั้งที่ 1) เป็นเหมือนครั้งที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังสถิตอยู่" (วินย.อ. 1/272) " เพราะว่า เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า" (วินย.ฎีกา.2/71) พาหิรกสูตร (สูตรภายนอก คือสูตรที่ไม่ได้ขึ้นสู่สังคายนาทั้ง 3 ครั้งใหญ่) ตลอดถึงพระสูตรของนิกาย มหาสังฆิกะ (นิกายใหญ่ที่จัดเป็นหินยานที่สืบต่อจากภิกษุวัชชีบุตร และต่อมาพัฒนาเป็นมหายาน) ท่านก็จัดเข้า เกณฑ์ไว้แล้วว่า "...ไม่พึงยึดถือ ควรตั้งอยู่ในอัตตโนมตินั่นแหละ หมาย ความว่า อัตตโนมติ ในนิกายของตน (เถรวาท) ยังสำคัญกว่าสูตรที่นำมาจากนิกายอื่น " (วินย.ฎีกา 2/72) นี้เป็นตัวอย่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่พระเถระในอดีตได้ถือปฏิบัติในการดำรงรักษาพระธรรมวินัยสืบกันมา ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งประสบการณ์ในการทำงาน และจิตใจที่ให้ความสำคัญแก่พระธรรมวินัยนั้นอย่างมั่นคงยิ่งใน หลักการ ท่านจึงรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่่ยืนนานมาถึงเราได้ ชนิดที่ว่าแม้พวกเราในปัจจุบันจะไม่เอาใจใส่ แต่ก็มีโอกาสให้คนยุคต่อไปที่ตื่นตัวขึ้นสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้อีก