พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุว่า นิพพานเป็นอนัตตา อย่างไรก็ตาม เมื่อยังจะยืนยันให้ได้ว่า นิพพานเป็นอัตตา ท่านก็ให้หลักการที่ชัดเจนไว้ สำหรับเอามา ใช้เป็นหลักฐาน ที่จะแสดงว่านิพพานเป็นอนัตตา ขอย้ำอีกว่า การชี้แจงต่อไปนี้ เป็นการนำหลักฐานมาแสดง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งบันทึกไว้ใน พระไตรปิฎก พร้อมทั้งคำอธิบายประกอบในอรรถกถา ไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น หรือแม้แต่ตีความ ถ้าที่ใด เป็นความคิดเห็นก็จะเขียนบอกหรือวงเล็บไว้ด้วย ว่าเป็นความคิดเห็น แต่คิดว่าจะไม่มีเรื่องความคิดเห็น อย่าง มากก็มีเพียงคำอธิบายประกอบ คำอธิบายประกอบก็คือ การขยายความหมายของคำออกไปตามหลักที่มีอยู่แล้ว เช่น ถ้ามีหลักฐาน กล่าวถึง อริยสัจจ์ 4 หาก กลัวว่าคนทั่วไปจะไม่เข้าใจก็อาจจะวงเล็บไว้ว่า (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) อย่างนี้ เป็นต้น นี้ถือเป็นการอธิบาย ไม่ใช่ความเห็น ขอสรุปให้ว่า - ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เริ่มแต่พระไตรปิฎก และอรรถกถา ไม่มีหลักฐานในคัมภีร์ใดเลยที่กล่าวถ้อย คำระบุลงไปว่านิพพานเป็นอัตตา - แต่หลักฐานในคัมภีร์ที่ระบุลงไปว่านิพพานเป็นอนัตตานั้นมี และมีหลายแห่ง ขอให้ทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า ที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา คำว่า "เป็นอนัตตา" นั้น เป็นการทับศัพท์ บาลีเพื่อความสะดวกในการกำหนดหมาย โดยสาระก็คือเป็นการปฏิเสธอัตตา มิใช่หมายความว่า มีอะไรอย่าง หนึ่งที่เรียกชื่อว่าเป็นอนัตตา (จะแปลอนัตตานี้ว่า ไม่ใช่อัตตา ไม่เป็นอัตตา หรือไม่มีอัตตา ก็ไม่ต้องเถียงกัน อยู่ที่ ความเข้าใจให้ชัด แต่เมื่อว่าโดยสาระก็คือ เป็นการปฏิเสธความเป็นอัตตา) หลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ที่ระบุว่านิพพานเป็นอนัตตา มีมากแห่ง ในที่นี้จะยกมาพอเป็น ตัวอย่าง 1. ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 8 มีคำสรุประบุชัดไว้ ดังนี้ว่า อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา ฯ (วินย. 8/826/224) แปลว่า: "สังขารทั้งปวง อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็น อนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้ "1 คัมภีร์วิมติวิโมทนีได้อธิบายข้อความในคาถาสรุปนี้ไว้ว่า ปาฬิยํ นิพฺพานญฺเจว ปญฺญตฺตีติ เอตฺถ ยสฺมา สงฺขตธมฺเม อุปาทาย ปญฺญตฺตา สมฺมุติสจฺจภูตา ปุคฺคลาทิปญฺญตฺติ ปรมตฺถโต อวิชฺชมานตฺตา อุปฺปตฺติวินาสยุตฺตวตฺถุธมฺมนิยเตน อนิจฺจทุกฺข-ลกฺขณทฺว เยน ยุตฺตาติ วตฺตุํ อยุตฺตา, การกเวทกาทิรูเปน ปน ปริกปฺปิเตน อตฺตสภาเวน วิรหิตตฺตา " อนตฺตา "ติ วตฺตุํ ยุตฺตา. ตสฺมา อยํ ปญฺญตฺติปิ อสงฺขตตฺตสามญฺญโต วตฺถุภูเตน นิพฺพาเนน สห " อนตฺตา อิ ติ นิจฺฉยา " ติ วุตฺตา. อวิชฺชมานาปิ หิ สมฺมุติ เกนจิ ปจฺจเยน อกตตฺตา อสงฺขตา อวาติ (วิมติวิโนทนีฏีกา 2/351) แปลว่า: " ในข้อความนี้ว่า " นิพฺพานญฺเจว ปญฺญตฺติ " ในพระบาลี อธิบายความว่า ด้วยเหตุที่ บัญญัติมีบุคคลเป็นต้น อันเป็นสมมติสัจจะ ซึ่งท่านบัญญัติไว้โดยอาศัยสังขตธรรม เพราะเหตุที่เป็น สิ่งไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ จึงไม่ควรจะกล่าวว่าประกอบด้วยลักษณะ 2 คือ อนิจจลักษณะ และทุกข ลักษณะ ซึ่งกำหนดด้วยสิ่งที่ประกอบด้วยอุบัติ และวินาศ (เกิด-ดับ) แต่ควรจะกล่าวว่าเป็นอนัตตา เพราะปราศจากสภาวะที่เป็นอัตตา อันกำหนดด้วยอาการที่เป็นผู้กระทำและเป็นผู้เสวยหรือรับผล เป็นต้น เพราะฉะนั้น แม้บัญญัตินี้ พร้อมด้วยนิพพานซึ่งเป็น สิ่งที่มีอยู่ ท่านกล่าวว่า "วินิจฉัยว่าเป็น อนัตตา" เพราะเสมอกันโดยความเป็นอสังขตะ จริงอยู่ สมมติแม้ไม่มีอยู่ ก็เป็นอสังขตะ เพราะไม่ถูกปัจจัยใดๆ กระทำขึ้น" (นิพพานเป็นอสังขตธรรมที่มีจริง ส่วนบัญญัติเป็นอสังขตะที่ไม่มีจริง เพราะฉะนั้นอสังขตธรรมแท้จริงมี อย่างเดียว คือนิพพาน แต่ทั้ง 2 อย่างนั้นเป็นอนัตตา) 2. หลักธรรมหมวดใหญ่ที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งชาวพุทธรู้้จักกันดี คืออริยสัจจ์ 4 นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจจ์ 4 ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจจ์ข้อ 3 ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม 31 ระบุว่าอริยสัจจ์ 4 ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. 31/546/450) แปลว่า: "สัจจะทั้ง 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว (คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ(ทุกข์) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา " อรรถกถาอธิบายว่า อนตฺตฏฺเฐนาติ จตุนฺนมฺปิ สจฺจานํ อตฺตวิรหิตตฺตา อนตฺตฏฺเฐน. (ปฏิสํ.อ.2/229) แปลว่า: "คำว่า 'โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา' หมายความว่า โดยความหมายว่าเป็น อนัตตา เพราะสัจจะแม้ทั้ง 4 เป็นสภาวะปราศจาก อัตตา " 3. อีกแห่งหนึ่ง ในพระไตรปิฎกเล่ม 31 คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ กล่าวไว้ว่า เอกสงฺคหิตาติ ทฺวาทสหิ อากาเรหิ สพฺเพ ธมฺมา เอกสงฺคหิตา ตถฏฺเฐน อนตฺตฏฺเฐน สจฺจฏฺเฐน . . . (ขุ.ปฏิ 31/242/155) แปลว่า: "ที่ว่ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อธิบายว่า ธรรมทั้งปวงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยอาการ 12 คือ โดยอรรถว่าเป็นอย่างนั้น โดยอรรถว่าเป็นอนัตตา โดยอรรถว่าเป็นสัจจะ...." อรรถกถาอธิบายความตรงนี้ไว้ให้ชัดขึ้นว่า สพฺเพ ธมฺมา เอกสงฺคหิตา สงฺขตาสงฺขตธมฺมา เอเกน สงฺคหิตา ปริจฺฉินฺนา. ตถฏฺเฐนาติ ภูต ฏฺเฐน, อตฺตโน อตฺตโน สภาววเสน วิชฺชมานฏฺเฐนาติ อตฺโถ. อนตฺตฏฺเฐนาติ การกเวทกสงฺขาเตน อตฺต นา รหิตฏฺเฐน. (ปฏิสํ.อ. 1/343) แปลว่า: "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงสงเคราะห์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ทั้ง สังขตธรรม (สังขาร/ขันธ์ 5) และ อสังขตธรรม (นิพพาน) สงเคราะห์ หมายความว่า กำหนดได้โดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่ว่า " โดยอรรถว่าเป็นอย่างนั้น " (ตถา) คือโดยอรรถว่า มีอยู่ หมายความว่า โดยอรรถว่า มีอยู่ ตามสภาพของมัน ๆ ที่ว่า " โดยอรรถว่าเป็นอนัตตา " คือโดยความหมายว่าปราศจากอัตตา ซึ่งนับว่าเป็นผู้ทำและผู้ เสวยหรือรับผล...." 4. ในพระไตรปิฎกเล่ม 17 กล่าวถึงพุทธพจน์ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ (สํ.ข. 17/233) แปลว่า: " สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา " อรรถกถา อธิบายว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ สพฺเพ เตภูมกสงฺขารา อนิจฺจา. สพเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพเพ จตุภูมกธมฺมา อนตฺตา (สํ.อ. 2/346) แปลว่า: "พุทธพจน์ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงหมายความว่า สังขารในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รู ปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) ทั้งปวง ไม่เที่ยง พุทธพจน์ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความว่า ธรรมในภูมิ 4 (กามาวจรภูมิ รูปาวจร ภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ คือมรรค ผล นิพพาน) ทั้งหมดทั้งปวงเป็นอนัตตา " 5. อรรถกถาที่อธิบายเรื่องเหล่านี้ยังมีอีกมากมาย จะยกมาเพียงอีก 2-3 แห่งก็เพียงพอ ที่จริงเพียงแห่ง เดียวก็ต้องถือว่าพอ เพราะไม่มีที่ใดขัดแย้ง 1) สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตํ (นิทฺ.อ.2/8) แปลว่า: "ข้อความว่า ' ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา' นั้น พระพุทธองค์ตรัสรวมทั้งนิพพานด้วย" 2) สพฺเพ ธมฺมาติ นิพฺพานมฺปิ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตา อนตฺตา อวสวตฺตนฏฺเฐน. (นิทฺ.อ. 1/219 และ ปฏิสํ.อ. 1/68) แปลว่า: " ข้อความว่า ' ธรรมทั้งปวง' ตรัสไว้รวมแม้ทั้งนิพพานด้วย ชื่อว่าเป็นอนัตตา โดยความหมาย ว่าไม่เป็นไปในอำนาจ " บางแห่งใช้คำว่า อัตตสุญญ แปลว่า ว่าง หรือ สูญจากอัตตา ก็มี เช่น 3) นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ (ปฏิสํ.อ. 2/287) แปลว่า: "ธรรม คือนิพพาน สูญ (ว่าง) จากอัตตา เพราะไม่มีอัตตานั่นเอง " 4) สงฺขตาสงฺขตา ปน สพฺเพปิ ธมฺมา อตฺตสงฺขาตสฺส ปุคฺคลสฺส อภาวโต อตฺตสุญฺญาติ. (ปฏิสํ.อ. 2/287) แปลว่า: " ก็ธรรมทั้งหลาย แม้ทั้งปวง ทั้งสังขตะ (สังขาร) และอสังขตะ (นิพพาน) ล้วนสูญ (ว่าง) จาก อัตตา เพราะไม่มีบุคคล กล่าวคือ อัตตา " เอกสารของวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า " อัตตามีนัยมากมาย ทั้งอัตตาโดยสมมติ...และอัตตาในระดับที่สูงขึ้น " ขออธิบายสั้นๆ ว่า ในที่นี้ ข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถานั้น ปฏิเสธตรงไปที่อัตตาเลย ไม่ว่าจะ มีกี่นัย คือ ไม่ต้องปฏิเสธนัยไหนของอัตตาทั้งนั้น แต่ปฏิเสธอัตตาทีเดียวหมดไปเลย คือปฏิเสธอัตตาว่าไม่มีอยู่ จริงโดยปรมัตถ์ เป็นอันว่าไม่ต้องไปพูดว่าเป็นอัตตาหรือตัวตนแบบไหน นัยอย่างไหน เพราะท่านไม่ได้ปฏิเสธ ความหมายต่างๆ ของอัตตา แต่ท่านปฏิเสธที่คำว่าอัตตาตรงไปตรงมา ทีเดียวเสร็จสิ้นไปเลยว่า อัตตาโดย ปรมัตถ์ไม่มี ส่วนอัตตาโดยสมมติ คือตัวตนตามภาษาพูดที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันและในระดับศีลธรรม ก็ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร หมายความว่า นอกจากอัตตาที่ท่านปฏิเสธไปแล้วนี้ คำที่กล่าวถึงอัตตา ก็เป็นการกล่าวโดยสมมติเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือว่า ไม่มีพุทธพจน์ หรือข้อความในอรรถกถา หรือในคัมภีร์แห่งใดที่ระบุว่านิพพานเป็น อัตตา แต่มีชัดเจนที่ระบุว่านิพพานเป็นอนัตตา ส่วนคำว่าอัตตาจะใช้ในนัยไหน อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งหรือเป็นอีกประเด็นหนึ่งทีเดียว และก็ไม่ได้มี ปัญหาอะไรในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการใช้โดยสมมติทั้งสิ้น