การหาทางตีความ ให้นิพพานเป็นอัตตา ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า - ไม่มีหลักฐานในคัมภีร์ใดเลยที่กล่าวถ้อยคำระบุลงไปว่านิพพานเป็นอัตตา - แต่หลักฐานในคัมภีร์ที่ระบุลงไปว่านิพพานเป็นอนัตตานั้นมี และมีหลายแห่ง ดังที่ยกตัวอย่างมาแสดงแล้ว เมื่อไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงว่านิพพานเป็นอัตตา ผู้ที่หาทางจะทำให้นิพพานเป็นอัตตา ก็ใช้วิธี ตีความ หรือทำให้เกิดความสับสน ขอให้พิจารณาข้อความที่เอกสารของวัดพระธรรมกายได้กล่าวไว้ " 3. คำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นคำที่มีการอ้างอิงกันมากนี้ คำว่า สพฺ เพ ธมฺมา คือ ธรรมทั้งปวง กินความกว้างเพียงใดเพราะมีทั้งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวง ในที่นี้ รวมเอาพระนิพพานด้วย (อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิเทส ฉบับมหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย หน้า 8; อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิเทส ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า 219) และมีทั้ง คัมภีร์อรรถกถาที่บอกว่า ธรรมทั้งปวงที่ว่าเป็นอนัตตานั้นหมายเอาเฉพาะขันธ์ 5 ไม่ได้ครอบคลุมถึง พระนิพพาน (อรรถกถาธรรมบท ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ภาค 7 หน้า 62 ) " คำกล่าวนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ถ้าไม่เป็นเพราะตัวผู้กล่าวสับสนเอง ก็เป็นเพราะตั้งใจ จะทำให้เกิดความ สับสน เป็นการเสี่ยงต่อการตู่พระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ความจริงคำอธิบายของอรรถกถาไม่ ได้ขัดกันเลย ขอให้ดูพุทธพจน์แสดงหลัก นี้ ที่ท่านนำมาอธิบายไว้ ซึ่งต่างกันเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 พุทธพจน์ที่แสดงแต่หลักทั่วไปเป็นกลาง ๆ ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ (เช่น สํ.ข. 17/233/164) แปลว่า: " ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา " ในกรณีเช่นนี้ คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ จะกล่าวครอบคลุมหมดโดยไม่มีข้อแม้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพ จตุภูมกธมฺมา อนตฺตา (สํ.อ. 2/346) แปลว่า: " ธรรมที่มีในภูมิ 4 ทั้งหมด เป็นอนัตตา " ข้อนี้ชัดเจนไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ คือ ทุกอย่างรวมทั้งนิพพานด้วย เป็นอนัตตา แบบที่ 2 พุทธพจน์เฉพาะแห่ง ซึ่งมีข้อความที่เป็นเงื่อนไขจำกัดต่อท้าย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา (ขุ.ธ. 25/30/52; ขุ.เถร. 26/383/366) แปลว่า: " เมื่อใดบุคคลมองเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็น ทางแห่งวิสุทธ " ในกรณีนี้ อรรถกถาเถรคาถา อธิบายไว้บริบูรณ์ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ สพฺเพปิ จตุภูมิกา ธมฺมา อนตฺตา. อิธ ปน เตภูมิกธมฺมาว คเหตพฺพา (เถร.อ. 2/283) แปลว่า: " ข้อความ (พุทธพจน์) ว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ 4 แม้ทั้งหมด (คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ คือ มรรค ผล นิพพาน) เป็นอนัตตา แต่ในที่นี้ พึงถือเอาเฉพาะธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 (สังขาร/ขันธ์ 5) เท่านั้น "1 ที่จริงคำอธิบายนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือ ท่านแบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรก แสดงหลักทั่วไป คือตัวความจริงแท้ๆ ที่เป็นกลาง ๆ ซึ่งเป็นความหมายที่สมบูรณ์ว่า ธรรมทั้ง ปวง รวมหมดทั้งภูมิ 4 ซึ่งรวมทั้งนิพพานด้วยนั้น เป็นอนัตตา ส่วนท่อนที่สอง จำกัดความหมายให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือตามความประสงค์เฉพาะกรณี ดังจะ เห็นว่ามีทั้งคำว่า อิธ ซึ่งจำกัดเทศะว่า " ที่นี้ " หรือ " ในกรณีนี้ " หรือ " ในคาถานี้ " และคำว่า คเหตพฺพา ซึ่งจำกัด วัตถุประสงค์ว่า " พึงถือเอา " (หรือในอรรถกถาธรรมบทใช้คำว่า อธิปฺเปตา แปลว่า " ทรงประสงค์เอา ") คำว่า ในที่นี้ ก็ดี คำว่า พึงถือเอา หรือทรงประสงค์เอา ก็ดี เป็นคำจำกัดขอบเขต คือ อิธ " ที่นี้ " ก็ จำกัดสถานที่ หรือเฉพาะกรณี และ คเหตพฺพา " พึงถือเอา " หรือ อธิปฺเปตา " ทรงประสงค์เอา " ก็จำกัดความ ต้องการ การใช้คำจำกัดอย่างนี้เป็นการบอกชัดอยู่แล้วว่า เป็นการตัดออกมาจากส่วนรวมทั้งหมด โดยจับเอา เฉพาะส่วนที่ประสงค์ในกรณีนั้นๆ เพราะในทางพุทธศาสนาถือว่าความจริงนั้นเป็น กลางๆ ไม่ขึ้นต่อความ ต้องการของใคร เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงหลักที่เป็นความจริงกลางๆ ไว้ก่อน แล้วท่อนหลังจึงแสดงความมุ่ง หมายที่ต้องการใช้เฉพาะในกรณีนั้นๆ หรือเป็นเรื่องสัมพันธ์กับเงื่อนไขบางอย่างในที่นั้น อย่างในกรณีนี้ ขออธิบายประกอบ จะเห็นว่ามีคำว่า "อถนิพฺพินฺทติ ทุกฺเข" ซึ่งแปลว่า " เมื่อนั้นย่อม หน่ายในทุกข์" ทุกข์คืออะไร ทุกข์ในทางธรรม ว่าโดยรวบยอดก็ได้แก่อุปาทานขันธ์ 5 ในที่นี้ อรรถกถาเองก็ ได้อธิบายต่อไปว่า เป็นวิปัสสนาวิธีในการปฏิบัติของผู้พิจารณา ซึ่งหมายถึงพิจารณาเบญจขันธ์ แต่ยกหลักทั่วไป ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 3 ข้อ คือ สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา, สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มากล่าว โดยยกเอาหลักนั้นมาอ้างเต็มตามเดิม ส่วนความหมายที่ต้องการในที่นี้ ซึ่งใช้ในวิปัสสนาวิธีนั้น จำกัด เฉพาะการพิจารณาขันธ์ 5 หรือพิจารณา สังขาร และเมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นก็หน่ายในทุกข์ รับกัน คือ หน่ายในขันธ์ 5 หรืออุปาทานขันธ์ 5 นั้น เป็นอันว่าในที่นี้เป็นการใช้จำกัดความหมายเฉพาะขอบเขตโดยมีเงื่อนไข แต่หลักกลางก็ไม่ได้เสียหาย ไปไหน เพราะได้บอกแจ้งไว้ท่อนต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คำอธิบายของท่านจึงไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด และถึงอย่างไร คำอธิบายพุทธพจน์เหล่านี้ก็ไม่มีการระบุว่า นิพพานเป็นอัตตา แต่ตรงข้าม คำอธิบายที่ ปรากฏมาแล้วนั้นก็บอกชัดว่า นิพพานรวมอยู่ในธรรมที่เป็นอนัตตา บางท่านเมื่อหาพุทธพจน์ หรือคำระบุในคัมภีร์ว่านิพพานเป็นอัตตาไม่ได้แล้ว ก็เลยมาเอาข้อความตรง นี้ที่ว่า " ในกรณีนี้ ธรรมทั้งปวงทรงประสงค์เอาขันธ์ 5 " แล้วก็ไปตีความหมายเอาว่า เมื่อธรรมทั้งปวงหมายเอา ขันธ์ 5 เพราะฉะนั้นนิพพานก็เป็นอัตตา ซึ่งก็ 1. ไม่มีพุทธพจน์ ไม่มีข้อความ ไม่มีถ้อยคำที่ระบุอย่างนั้น 2. ขัดต่อคำอธิบายของอรรถกถาที่กล่าวข้างต้นนั้น ซึ่งชัดอยู่แล้ว