เมื่อหลักฐานก็ไม่มี ตีความก็ไม่ได้ ก็หันไปอ้างผลจากการปฏิบัติ เมื่อไม่มีแหล่งที่มาจากคัมภีร์ที่จะอ้าง ซึ่งระบุว่านิพพานเป็นอัตตา ทางสำนักธรรมกาย นอกจากจะใช้ วิธีตีความหรือแปลผิดพลาด ตลอดจนอ้างคำสอนของลัทธินิกายอื่น และคำถกเถียงของนักวิชาการแล้ว อีกอย่าง หนึ่ง คือการอ้างว่าตนได้เห็นอย่างนั้นจากการปฏิบัติ การอ้างผลจากการปฏิบัตินั้น มีข้อพิจารณาและวิธีที่จะ ตรวจสอบ คือ 1. ผู้ที่ได้ยินคำอ้างเช่นนี้ มีสิทธิตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า การเห็นในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเห็นนิพพานหรือ เห็นอะไรก็ตามนั้น อาจจะเป็นเหมือนการอ้างของคนที่บอกหวย ว่าเห็นเลขลอตเตอรี่ จากการปฏิบัติ 2.ขั้นต่อไป จะต้องตรวจสอบการปฏิบัติด้วยหลักการซึ่งเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือไม่ เพราะว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักการ ผลที่ได้เห็นนั้นก็ไม่ถูกต้อง ในสมัยพุทธกาล ผลการปฏิบัตินั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้า ปรินิพพานไปแล้ว ก็ต้องตรวจสอบด้วยคำสอนของพระองค์ คือหลักการที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก สำหรับพระพุทธศาสนาเถรวาท ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่เป็นไปตามหลักการ ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก การ ปฏิบัตินั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติไปตามทัศนะส่วนตัวของบุคคลนั้น หรือไม่ก็เป็นเพียงเรื่องของสำนักนั้น หรือมี ค่าเท่ากับการปฏิบัติของฤาษีโยคี เป็นต้น นอกพระพุทธศาสนา เป็นแต่เพียงอาศัยรูปแบบในพระพุทธศาสนา เท่านั้น ทั้งๆ ที่ตนอาศัยรูปแบบที่กำหนดไว้ในพระไตรปิฎก แต่เวลาปฏิบัติกลับปฏิบัติไปตามความคิดเห็นของ ตนเอง ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจะเป็นการปฏิบัติที่เรียกว่าพุทธศาสนาได้อย่างไร 3. เป็นการเสี่ยงต่อการอวดอุตริมนุสสธรรม อย่างที่กล่าวแล้วว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อจะตรวจสอบ ว่าตนเองได้บรรลุ ธรรม ได้เห็นนิพพานหรือไม่ เป็นต้น ก็ต้องไปให้พระพุทธเจ้าตรัสรับรองดังที่เรียกว่า พยากรณ์ ถ้าภิกษุรูปใดกล่าวขึ้นกับภิกษุรูปอื่น แทนที่จะนำไปกล่าวขอรับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า อาจจะถูก ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอวดอุตริมนุสสธรรม เรื่องนี้จะเห็นได้ว่าแม้แต่ พระสารีบุตรอัครสาวกเคยพูดอะไรบางอย่าง ภิกษุบางรูปก็ยังตั้งข้อกล่าวหาว่าท่านอวดอุตริมนุสสธรรม ซึ่งต้องรับคำวินิจฉัยจากพระพุทธเจ้า (ดูเรื่องใน สํ. นิ.16/104/59) เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว การที่จะตัดสินก็คือ ตัดสินด้วยหลักการที่พระองค์ทรงวางไว้ ซึ่งมีอยู่ แล้วในพระไตรปิฎก อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ภิกษุเห็นรูปด้วยตา . . . ได้ยินเสียงด้วยหู . . . ฯลฯ ย่อมรู้ชัดในตัวของตัวเองว่า ภายในใจของเรามี โลภะ มีโทสะ มีโมหะหรือไม่ " (สํ.สฬ. 18/240/173) การตรวจสอบตนเองอย่างนี้ จึงจะทำให้รู้ได้ว่าบรรลุธรรม หรือไม่ และพระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้แต่ ละคนสำรวจตรวจสอบในตนเอง ไม่ใช่ให้ไปอวดอ้างแก่ผู้อื่น ถ้าเห็นโน่นเห็นนี่ แล้วมาอวดอ้างแก่ผู้อื่น บอกว่าได้มรรค ได้ผล เห็นนิพพาน ก็ควรจะต้องถูกขอให้ดูใน ตัวของผู้อวดอ้างนั้นเองว่าใจยังมี โลภะ โทสะ โมหะ หรือไม่ พร้อมกับการที่จะต้องถูกตรวจสอบว่าอาจจะเป็น การอวดอุตริมนุสสธรรม เวลานี้ไปกันไกลถึงกับมีการพูดว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้ พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ เป็นนักปฏิบัติหรือไม่ โดยจะดูว่า ไปนั่งสมาธิหรือเปล่า ไปเข้าป่า ไปนั่งวิปัสสนาหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ คือไปติดอยู่ที่รูปแบบ จริงอยู่ รูปแบบเหล่านี้ก็ช่วยเป็นเครื่องประกอบในการพิจารณาขั้นต้น แต่ถ้าเป็นวิธีของพระพุทธเจ้า แท้ ๆ ไม่ใช่อยู่ที่ตรงนี้ การดูว่าท่านผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติหรือไม่ ก็ดูที่พฤติกรรมของท่านว่าเป็นไปตามศีลหรือไม่ แล้ว ก็ดูความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต การแสดงออกและอาการความเป็นไปทั้งหลายที่แสดงว่า มีโลภะ โทสะ โมหะ น้อยหรือมากเพียงใด อันนี้คือการดูการปฏิบัติที่แท้จริง ซึ่งเป็นเนื้อแท้ตามหลักการของพระพุทธเจ้า