น่าอนุโมทนาที่แม้จะช้าสักหน่อย แต่ในที่สุดปราชญ์ตะวันตกก็ตามจับหลักพุทธได้ ระยะที่ 3 เอกสารของวัดพระธรรมกาย นั้น ต้องขออภัยที่จะกล่าวด้วยคำที่อาจจะรู้สึกว่ารุนแรงสัก หน่อยว่า มิใช่เป็นการกล่าวตู่เฉพาะพระธรรมวินัยเท่านั้น แต่ยังได้กล่าวตู่นักปราชญ์และนักวิชาการทางพระ พุทธศาสนาชาวตะวันตกด้วย ขอเล่าถึงความเข้าใจของปราชญ์ชาวตะวันตกต่อไปว่า เมื่อการศึกษาพุทธศาสนาของชาวตะวันตกเดินหน้าต่อมาผ่านพ้นยุคของ Mrs. Rhys Davids, Miss I. B. Horner, Christmas Humphreys, Edward Conze เป็นต้นมาแล้ว เวลานี้ก็ถึงนายกสมาคมบาลีปกรณ์คน ปัจจุบัน ชื่อว่า Professor Richard Gombrich ซึ่งถ้ามองในแง่ลำดับกาลเวลา ต้องถือว่าเป็นปราชญ์ภาษาบาลี และพุทธศาสนาของตะวันตกรุ่นล่าสุด ปรากฏว่า Richard Gombrich คัดค้านทัศนะของปราชญ์ตะวันตกรุ่นก่อนตน เช่นคัดค้าน Mrs. Rhys Davids ที่เคยเป็นนายกสมาคมบาลีปกรณ์มาก่อนอย่างเรียกว่าเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องนิพพานกับอัตตา ว่า พระพุทธศาสนาถือว่า อัตตามีจริงหรือไม่นี้่ เราอาจRichard Gombrich เป็นเหมือนผลสะสมแห่งปัญญาของนัก วิชาการตะวันตกผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ได้เดินทางมาถึงจุดที่เป็นมติใหม่ของนายกสมาคมบาลีปกรณ์ ปัจจุบัน ทัศนะของ Richard Gombrich ทำให้ข้อสรุปแห่งเอกสารของวัดพระธรรมกาย ที่พูดไว้ ๒ ข้อนั้น หมด ความหมายไปทันที Richard Gombrich ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งชื่อว่า Theravada Buddhism พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1988 แต่เดี๋ยวนี้พิมพ์หลายครั้งแล้ว เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น หน้า 21 ว่า "Many scholars of Buddhism, both Western and Hindu, have tried to prove that the Buddha himself did not preach the doctrine of no-soul as it has been understood in the Theravadin tradition . . . This amounts to a claim that this great religious teacher has been completely misunderstood by his followers . . . "1 "นักปราชญ์พุทธศาสนาจำนวนมาก ทั้งชาวตะวันตก และที่เป็นชาวฮินดู ได้พยายามที่จะพิสูจน์ว่า พระ พุทธเจ้าเองไม่ได้ทรงสอนหลักอนัตตา อย่างที่เข้าใจกันในสายความคิดของเถรวาท การกระทำอย่างนี้เท่ากับเป็น การตู่ว่าเหล่าสาวกของพระพุทธเจ้าเอง ได้เข้าใจองค์พระศาสดาของตนผิดพลาดไปอย่างสิ้นเชิง . . ." เรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พวกฝรั่งรุ่นก่อนที่ถือว่าเป็นนักปราชญ์ทางพุทธศาสนานั้น มีความ เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนิพพานกับอัตตา แบบต่างๆ แบบหนึ่งเข้าใจว่ามีอัตตาหรือตัวบุคคลที่เข้านิพพาน บ้างก็ เห็นว่านิพพานเป็นอัตตา บ้างก็คิดว่านิพพานเป็นการดับอัตตา แต่ Richard Gombrich สรุปต่างออกไป โดย ค้านพวกนักปราชญ์ตะวันตกรุ่นก่อนตน หรือรุ่นพี่ที่แล้วมาทั้งหมด ทัศนะของ Gombrich มาตรงตามหลักการของเถรวาทอย่างแท้จริง คืออัตตานั้นโดยปรมัตถ์ไม่มีอยู่เลย มีแต่โดยสมมติอย่างเดียวเท่านั้น เมื่ออัตตามีอยู่โดยสมมติ คือไม่มีของจริงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปดับอัตตาอะไรอีก เรียกว่าไม่มีอัตตาที่จะต้องดับ หมาย ความว่าดับแต่ความหลงผิดและความยึดมั่นในอัตตาเท่านั้น เมื่อดับความ หลงผิดและความยึดมั่นในอัตตาแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นอัตตาที่จะต้องพูดถึงอีก ดังที่ต่อมาหน้า 63 เขาเขียนอีกว่า "Endless misunderstanding has been caused by Western writers, who have assumed that Nibbana is the blowing out of the personal soul . . . there is no soul or self as a separate entity, for such terms as soul, self, individual etc., are mere conventional terms . . . there can be no question of getting rid of a soul because one has never had one . . ."1 "ได้มีความเข้าใจผิดกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากนักเขียนชาวตะวันตก ผู้ได้ยึดถือว่านิพพานคือ การดับอัตตาของบุคคล2 . . . ไม่มีอัตตาหรือตัวตน ที่เป็นสิ่งมีอยู่จริงต่างหาก เพราะคำทั้งหลายทั้งปวงเช่น อัตตา ตัวตน บุคคล เป็นต้น เป็นเพียงคำสมมติบัญญัติเท่านั้น . . . ไม่ต้องพูดถึงการที่จะกำจัดอัตตา เพราะว่า ใครๆ ก็ไม่ได้เคยมีอัตตากันมาเลย" ถ้ามอง Richard Gombrich ว่าเป็นผลรวมแห่งความเพียรพยายามศึกษาและสติปัญญาของนัก ปราชญ์พุทธศาสนาชาวตะวันตก ก็จะเห็นได้ว่าความเพียรพยายามศึกษาทั้งหมดนั้น เพิ่งมาบรรลุผลที่นี่ คือมา จบที่การยอมรับหรือรู้จักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงว่า ไม่ยอมรับอัตตา หรือปฏิเสธลัทธิอัตตา และ เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้นมาว่า ในหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาท อัตตาเป็นเพียงคำสมมติทางภาษา เพื่อ สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ ไม่ว่าในรูปใดๆ ไม่มีอัตตาแม้แต่ที่จะต้องไปดับ เป็นการ ระงับคำสรุปในเอกสารของวัดพระธรรมกาย 2 ข้อ ที่บอกว่า "ปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่มีผลงานมากมายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเหล่านี้ มีความเห็นที่ตรงกันในเรื่อง อัตตา นี้ 2 ประเด็น ใหญ่ ๆ คือ ก. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า อัตตาที่แท้จริงไม่มี และไม่เคยตรัสปฏิเสธว่าไม่มี อัตตาใด ๆ ทั้งสิ้น ในสัจจะทุกระดับ ข. เขาเหล่านี้เชื่อตรงกันว่า ในคำสอนของพุทธศาสนายุคดั้งเดิมบ่งบอกนัยว่า มีอัตตาที่แท้จริง ซึ่งอยู่ใน ภาวะที่สูงกว่าขันธ์ 5 หรือสังขตธรรม" ตอนนี้เมื่อมาถึง Richard Gombrich ก็เลยต้องพูดใหม่ว่า "ปราชญ์ทางพุทธศาสนาของตะวันตกได้มีความเห็นผิดกันมามากและยาวนาน จนกระทั่งในที่สุดนี้ ก็ ได้มีความเห็นถูกต้องว่า ก. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิเสธอย่างชัดเจน ว่าอัตตาที่แท้จริงไม่มี พระองค์ปฏิเสธอัตตาในระดับ ปรมัตถ์โดยสิ้นเชิง ข. ปราชญ์ตะวันตกมาถึงจุดที่ยอมรับแล้วว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม ไม่ถือว่ามีอัตตา ที่จะต้องพูดถึงใด ๆ อีก นอกจากอัตตาคือตัวตนโดยสมมติเท่านั้น" เรื่องนิพพานเป็นอนัตตานี้ ประเทศพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททั้งหลายรวมลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ ได้มีความขัดแย้งกันเลย ปัญหาไม่น่าจะมีขึ้นมา ส่วนเรื่องของนักวิชาการตะวันตกอะไรนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นความคิดเห็นอย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งก็มาจบที่ Richard Gombrich ที่มารู้จักพระพุทธศาสนาตรงกับพระสงฆ์ ฝ่ายเถรวาทในที่สุด ขอให้นึกดูว่าต้องใช้เวลาช้านานเท่าไร กว่าปราชญ์ตะวันตกจะเดินทางมาถึงจุดที่รู้เข้าใจคำสอนของ พระพุทธศาสนาอย่างนี้ ขณะที่ในประเทศเถรวาทนั้น เราได้รู้เข้าใจกันมาเป็นอย่างเดียวกันอย่างนี้นานนักหนา แล้ว เพราะฉะนั้นการอ้างนักวิชาการตะวันตก จึงไม่มีความหมายอะไร แต่แม้ว่าปราชญ์ชาวตะวันตกจะรู้ถูกต้องขึ้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปนำเขามาอ้างอิง เพราะ ประการแรก ได้กล่าวแล้วว่า เราไม่เอาความคิดเห็น และประการที่สอง นักปราชญ์ตะวันตกเหล่านี้ก็มาศึกษา จากพระไตรปิฎกเถรวาทของเรา ไม่ใช่เขาจะเป็นผู้วินิจฉัยคำสอนของพระพุทธศาสนา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ชาวพุทธก็ควรจะวางท่าทีให้ถูกต้อง คือ ยินดีอนุโมทนาปราชญ์และนักวิชาการชาว ตะวันตก ที่ได้เกิดความเข้าใจถูกต้องนี้ขึ้นมาได้ในที่สุด และหันมากระตุ้นเตือนจิตสำนึกของพวกเรากันนี้เองว่า ควรจะหันมาช่วยกันรักษาพระไตรปิฎก ที่เป็นแหล่งคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาไว้ให้แก่โลกต่อไป เพื่อ ให้คนทั้งหลาย ดังเช่นนักวิชาการตะวันตกเหล่านี้ ยังมีโอกาสที่จะมาศึกษาและรู้จักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง