บทส่งท้าย บางท่านกล่าวว่า "ที่นั่นเขาต้องมีอะไรดีซิ จึงมีคนที่มีการศึกษาสูงๆ ไปกันมาก" คำกล่าวอย่างนี้ เป็นข้อ ที่ทำให้โต้เถียงกัน เพราะบางคนก็กลับพูดแย้งในทางตรงข้ามว่า "ที่พูดนั้นน่าสงสัย ถ้าว่าโดยอัตราส่วนแล้วคนมี การศึกษาสูงไปมากจริงหรือเปล่า ถ้าวิเคราะห์กันให้ดีจะเป็นไปในทางตรงข้ามหรือเปล่าว่า ที่นั่นคนมีการศึกษา สูงๆ ส่วนมากไม่ไป" แล้วก็เลยโต้เถียงกันอยู่นั่นไม่จบสิ้น ที่จริง เรื่องที่น่าพิจารณาคือปัญหาในวงกว้าง ไม่เฉพาะเรื่องของวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่เป็นปัญหา ของสังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสังคมไทยของเรานี้ เวลานี้ อย่างที่รู้กันอยู่ เมื่อสังคมเจริญสูงทางวัตถุ คนกลับมีปัญหาจิตใจมาก ในสภาพเช่นนี้ วิธีแก้ ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการง่ายๆ ทางวัตถุ ก็มาก่อน เช่นการใช้ยา การพึ่งสุรา ยาเสพติด การมั่วสุม หรือไม่ก็ทำ ร้ายตัวเอง จนถึงฆ่าตัวตาย คนอีกพวกหนึ่ง ที่อาจถือว่าดีขึ้นมาหน่อย ก็หาวิธีแก้ปัญหาจิตใจนั้นด้วยวิธีการทางจิต ซึ่งช่วยให้รู้สึก ว่ามีความหวัง มีกำลังใจ มีสิ่งปลอบประโลมใจ หรือกล่อมใจ ตลอดจนสิ่งที่ให้ความรู้สึกว่าได้ที่พึ่ง ซึ่งช่วยให้เกิด ความมั่นใจมากขึ้น หรือดึงตัวเองหลุดหลบออกไปจากปัญหาหรือความทุกข์ได้ แม้แต่ความรู้สึกมีกำลังใจเข้ม แข็งหรือมีอำนาจ อย่างน้อยก็ครึ้มใจขึ้นมาจากการมีสังกัด รวมพวกรวมหมู่ บ้างก็อ่อนล้าทางใจ อยากมีอะไรที่ ตนไว้ใจวางใจหรือมอบใจให้แล้วปล่อยตัวไปตาม แล้วแต่เขาจะสั่ง หรือทำไปตามที่เขากำหนดให้ สิ่งที่สนอง ความต้องการทางจิตนี้ นอกจากสิ่งที่ให้ความหวังแล้ว ก็รวมไปถึงสิ่งลึกลับ ความเชื่ออำนาจดลบันดาลต่างๆ ตลอดจนสมาธิที่ใช้เพื่อมุ่งผลทางจิต วิธีการทางจิตเหล่านี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี จะก่อปัญหาได้มาก ลักษณะทั่วไป ก็คือ เป็นการพึ่งพา ไม่ว่าจะ พึ่งพาด้วยการผูกใจอยู่กับความหวัง หรือพึ่งพาความเชื่อในสิ่งลึกลับ อำนาจดลบันดาลก็ตาม และอยู่กับความ กล่อมใจ หรือทำให้ดื่มด่ำเข้าไป แล้วหลบทุกข์ลืมปัญหาไปได้ เรื่องนี้สอดคล้องกับสภาพของสังคมยุคนี้ หรือสังคมนี้ อีกอย่างหนึ่ง คือการที่คนทั้งหลายมักปฏิบัติต่อ สถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์ มากกว่าจะใช้เหตุผลหรือปัญญา เพราะฉะนั้นตัวแรงจูงใจที่จะให้ ตัดสินใจทำอะไร หรือไปไหน จึงมักจะเป็นเรื่องของความต้องการทางจิตใจ มากกว่าการที่จะใช้ปัญญา หรือ ต้องการแสวงปัญญา การดิ้นรนหาทางออกจากปัญหาจิตใจด้วยวิธีการทางจิตนี้ เป็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ ปัญหาด้านหนึ่ง แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ซึ่งอาจจะร้ายแรงและยืดเยื้อมากกว่า และข้อสำคัญคือไม่เป็นวิธีที่ จะแก้ปัญหาได้จริง นอกจากทำให้เกิดการ พึ่งพา และเป็นการกล่อมใจแล้ว โทษที่ทางพระพุทธศาสนาถือว่าร้าย แรงมาก ก็คือทำให้ตกอยู่ในความประมาท และเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว หรือกลบปัญหา ไม่พ้นไปจาก ปัญหาได้จริง เพราะเป็นวิธีกดทับไว้ ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนเอาหินทับหญ้า พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางจิต วิธีการทางจิตนั้น ไม่ใช่ว่าผิด แต่ไม่เพียง พอ และต้องใช้ในขอบเขตที่พอดี คือพอให้จิตใจได้พัก ทำให้จิตใจผ่อนคลายสงบหายเร่าร้อนกระวนกระวาย ว้าวุ่น และมีกำลังขึ้น คือเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อม แล้วต้องต่อด้วยวิธีการทางปัญญา เพื่อแก้ปัญหาดับทุกข์ ให้จบสิ้นไป ถ้าเรามีปัญหาหรือมีทุกข์ วิธีการทางปัญญาจะช่วยให้เราวางใจวางท่าทีต่อปัญหาหรือทุกข์นั้นได้ถูก ต้อง แล้วอยู่กับปัญหาหรือทุกข์นั้นได้อย่างมีความสุข หรืออยู่ได้ดีขึ้น และอาจจะนำเอาทุกข์หรือปัญหานั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์ได้ พร้อมกันนั้น ก็ไม่ลืมและไม่ละเลยที่จะแก้ปัญหา ผู้ที่ใช้วิธีการทางจิต จะต้องไม่ลืมใช้ปัญญา อย่างน้อยก็คอยตรวจสอบสำรวจตัวเองว่า วิธีแก้ทุกข์ของ เรา เป็นการหลบทุกข์หลบปัญหาหรือเปล่า เราลืมหรือละเลยการแก้ปัญหาที่แท้จริงหรือไม่ ความสุขที่เราได้นี้มา กับความดื่มด่ำแบบลุ่มหลง ที่ไม่ต่างมากนักกับความสุขของคนเสพยาหรือไม่ เราอยู่กับความกล่อมใจ หรือการ พึ่งพาหรือเปล่า จิตใจของเราอยู่กับความเป็นจริงอย่างเป็นอิสระด้วยท่าทีที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตหรือไม่ ในที่สุด สภาพการดิ้นรนหาทางแก้ปัญหาชีวิตจิตใจของคนเหล่านี้ ก็เป็นเครื่องฟ้อง ไม่เฉพาะถึงสภาพ จิตใจของคนเท่านั้น แต่บ่งชี้ถึงกระแสสังคม เช่น ค่านิยมของผู้คน และศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นที่จะนำ พาสังคมของตนให้ก้าวไปอย่างไร และเป็นปัญหาทางการศึกษา ที่จะทำให้ต้องถามว่า การศึกษาที่เราจัดกันอยู่ ปัจจุบันนี้มีความผิดพลาดบกพร่องอย่างไร จึงทำให้คนที่แม้แต่เล่าเรียนกันสูงๆ กลายเป็นอย่างนี้ไป อย่ามัวถกเถียงกัน อย่ามาอ้างกันเลยในเรื่องการศึกษาสูงๆ แต่สังคมของเรานี้ควรหันมาสำรวจตัวเอง กันให้จริงจัง ว่าเหตุใดเราจึงพัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาขึ้นมาไม่ได้ เป็นที่รู้กันโจ่งแจ้งชัดเจนว่า คนไทยเราที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่เจริญมากๆ นั้น เวลามีข่าวเกี่ยวกับการ แสดงธรรม หรือรายการทางปัญญา ถึงจะพยายามประชาสัมพันธ์ ก็หาคนสนใจได้ยาก มีคนไปไม่กี่คน แต่ถ้ามี ข่าวแว่วๆ ว่า มีอาจารย์ขลัง ชำนาญทางเสกเป่าทำนายทายทัก หรือเกี่ยวด้วยเรื่องศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ อย่างน้อยว่านั่งสมาธิแล้วได้เห็นโน่นเห็นนี่ ว่าท่านเดินทางมา คนก็จะตื่นเต้นยกหูโทรศัพท์บอกต่อกันเอง และไป ชุมนุมคับคั่ง พฤติกรรมทำนองนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสภาพจิตใจ และลึกลงไปถึงภูมิธรรมภูมิปัญญา แสดงว่าเราอยู่ใน ขั้นของความต้องการทางจิตใจ และไม่พัฒนาความต้องการทางปัญญา ถ้าเราพัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาขึ้น มาไม่ได้ เราจะถือเอาประโยชน์แท้จริงจากพระพุทธศาสนาได้ยาก สังคมของเราจะหมุนเวียนอยู่ในวังวนของผู้ ตามเสพผล และจมอยู่กับความลุ่มหลง หลอกกันไปหลอกกันมา ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นผู้ นำชาวโลกในการแก้ปัญหาและเสริมสร้างสันติสุข เวลานี้ ที่พยายามปฏิรูปการศึกษากัน ก็เพราะมองเห็นว่าการศึกษาที่จัดกันมามีความผิดพลาดบก พร่อง แต่การที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลนั้น จะต้องเห็นชัดว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างไร จึงต้องถามอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า การศึกษาที่เราจัดกันมานี้ผิดพลาดบกพร่องอย่างไร คนแม้แต่เล่าเรียน กันสูง ๆ แล้วจึง 1. ขาดความใฝ่รู้ พัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาไม่ขึ้น และคิดไม่เป็น ไม่รู้จักแยกแยะ แยกไม่ออก แม้แต่ ระหว่าง ข้อเท็จจริง หลักฐาน ความเห็น และในเรื่องความเห็นก็ยังแยกไม่ออก ระหว่างความเห็นเพื่อค้นหาความ จริงตามเหตุผล กับการหาเหตุผลเพื่อปกป้องตัวเอง 2. แต่ก่อนนี้เรามุ่งให้การศึกษากันมา ในแง่หนึ่งก็โดยหวังว่าเมื่อคนมีการศึกษาแล้ว มีอาชีพการงานทำ และเป็นคนดี จะได้ไม่ต้องทำความชั่ว ที่จะทำให้ต้องไปติดคุก แต่เมื่อให้การศึกษากัน ไปมา กลับได้ผลกลาย เป็นว่า การศึกษานี้ทำให้คนฉลาด มีความสามารถที่จะทำความชั่วได้โดยไม่ต้องติดคุก 3. การศึกษานี้เป็นอย่างไร จึงไม่สามารถทำให้คนมีความเข้มแข็ง ที่จะดำรงตนอยู่ในความสุจริตได้ แต่ กลับอ่อนแอในทางจริยธรรม ถูกล่อชักจูงให้ทำความชั่วเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ได้ง่าย 4. การศึกษานี้เป็นอย่างไร จึงทำให้คนมีปัญหาจิตใจมาก และเมื่อมีปัญหาจิตใจขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ สามารถที่จะใช้ปัญญาแก้ไขปัญหานั้นได้ ต้องไปหาไสยศาสตร์ ต้องไปหาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้มาช่วย รอผล จากอำนาจดลบันดาลภายนอก หรือหวังพึ่งสิ่งกล่อมใจต่างๆ มีการพูดกันว่า เป็นการดีที่ทำให้คนจำนวนมากๆ ไปวัด ไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา เขาไปทำความดี ดี กว่าไปสำมะเลเทเมา เข้าบาร์ ไนท์คลับ ฯลฯ เรื่องนี้จะต้องพิจารณา ด้วยความระมัด ระวัง โดยไม่ประมาท ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ว่า ความชั่วมีหลายอย่าง มีทั้งความชั่วด้านโลภะ ความชั่วด้าน โทสะ และความชั่วด้านโมหะ คนมักจะหลงลืมมองข้ามความชั่วด้านโมหะ แม้จะไม่ทำความชั่วเพราะโลภะ แม้จะไม่ทำความชั่ว เพราะโทสะ แต่อาจจะ ทำความชั่วด้วยโมหะ ซึ่งร้ายแรงมาก บางครั้ง คนผู้จะทำการร้ายด้วยโลภะ อาจฉวยโอกาสใช้โมหะของคนอื่นๆ มาเอาโลภะเข้าล่อ แล้วชัก พาคนเหล่านั้นให้ทำกรรมชั่วอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะยิ่งขึ้นไป ถ้าเป็นเรื่องของความลุ่มหลง หรือเชื่อถือผิดๆ จะมีผลร้ายระยะยาว และยิ่งคนไปมากก็ยิ่งน่ากลัวว่า จะ ทำให้เกิดผลร้ายที่แผ่กว้างลึกซึ้งอย่างยากที่จะแก้ไข มีพุทธพจน์ว่า ถ้าคนที่เป็นหลัก หรือบุคคลผู้นำ เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ มีความคิดเฉไฉผิดทางเสียแล้ว ก็จะ เป็นไปเพื่อความพินาศหายนะของมหาชนหรือคนจำนวนมาก (ดู องฺ.เอก.20/192/44) คุณค่าของพระพุทธศาสนา มิใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาการปล้นฆ่า ฉกชิง ลักขโมย ทำร้ายกันภายนอก แต่ เพื่อแก้ไขตลอดขึ้นไปจนถึงการทำร้ายทางปัญญา และการเบียดเบียนชีวิตและ สังคม ชนิดแอบแฝง ที่ลึกล้ำซ่อน เร้นนี้ด้วย คนที่ทำความดี ต้องมีความไม่ประมาท มิใช่เพียงที่จะไม่ ภูมิพองและติดเพลินอยู่กับความดีเท่าที่ทำ แต่ต้องไม่ประมาทที่จะหมั่นใช้ปัญญา เพื่อพัฒนากรรมดี และมิให้มีการทำความดีที่ขาดปัญญา จะต้องตระหนัก ไว้ว่า เจตนาดีที่ขาดปัญญา ได้นำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์แล้วมากมายตลอดมา ในที่สุดนี้ ชาวพุทธควรจะพิจารณาตรวจสอบตนเองให้ดี ว่าเราจะรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ด้วย ความบริสุทธิ์ได้อย่างไร มิใช่กลายเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษได้อุตสาหะเพียร พยายามรักษากันมาตั้งเป็นพันๆ ปี ชาวพุทธจะต้องมีการศึกษาแม้แต่ขั้นเบื้องต้น ที่จะทำให้รู้ตระหนักถึงความ สำคัญของพระธรรมวินัย ที่ท่านรักษาไว้ในพระไตรปิฎก และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระไตรปิฎกนั้นกับ ความเป็นไปของพระพุทธศาสนา ขอเล่าเรื่องหนึ่งว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุจากประเทศไทยคณะหนึ่งเดินทางไปดูการพระ ศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น วันหนึ่งก็ได้ไปเยี่ยมวัดของสังฆราชนิกายหนึ่ง เมื่อเข้าไปพบกับสังฆราชนิกายนั้น ก็มี หญิงสาวนำน้ำชามาต้อนรับพระภิกษุไทย ได้ความว่า หญิงสาวที่นำน้ำชามาต้อนรับนั้น เป็นลูกสาวของสังฆราช ญี่ปุ่นนั่นเอง ถ้าคนไทยไม่อยากเห็นพระภิกษุไทยเป็นอย่างพระญี่ปุ่น ก็จะทำได้ด้วยการช่วยกันรักษาพระไตรปิฎก บาลีของเถรวาทนี้ไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์มั่นคง ดังเป็นที่รู้กันอยู่ และเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้รู้ทั่วโลกว่า พระไตรปิฎก บาลีของเถรวาทนี้แหละ เป็นแหล่งบรรจุรักษาคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธศาสนาไว้ เราควรจะมีความภูมิใจที่ สามารถรักษาคำสอนที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงนี้ไว้ให้แก่โลก เพื่อ ให้พระสัทธรรมอำนวยประโยชน์สุขที่ยั่งยืนแก่มวลมนุษย์สืบไป