พืชตระกูลส้ม

 

ในสวนลุงตี๋มีพืชตระกูลส้มมากมายหลายประเภท

ประเภทส้ม

1. ส้มจี๊ดและส้มจี๊ดด่าง

ลักษณะ คือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง 1-2 เมตร ลักษณะใบสั้น-ป้อม ถ้าปลูกลงดินจะมีอายุอยู่ได้หลายปี ผลจะมีลักษณะกลมเล็ก สีเขียวเมื่อยังเล็ก เมื่อโตเต็มที่และสุก จะมีสีเหลืองส้ม

ส่วนส้มจี๊ดด่าง จะมีลายด่างขาวหรือด่างขาวเหลืองบนใบและผิดของลูก ซึ่งมีขนาดเท่าส้มจี๊ด เมื่อสุกจะออกสีเหลืองส้มเช่นเดียวกัน

ส้มจี๊ดหวาน

เป็นส้มที่ได้จากการเพาะเมล็ด ลักษณะลำต้นเหมือนกับส้มจี๊ดทั่วไป แต่ใบยาวกว่าส้มจี๊ดธรรมดา และมีหนามแหลมยาวตามกิ่งก้านที่แตกออกมาใหม่ เมื่อต้นมีความสมบูรณ์มาก ผลคล้ายส้มจี๊ดผสมส้มกิมจ๊อเป็นรูปหยดน้ำ สวยงาม เนื้อภายในมีรสชาติหวานมากกว่าส้มทั่วไป

2. ส้มคัมควอท์ - ส้มกิมจ๊อ

ลักษณะ คือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูง 1-2 เมตร คล้ายส้มจี๊ด ลักษณะใบเล็ก ปลายแหลมยาวกว่าส้มจี๊ด ลักษณะพิเศษ คือ เปลือกจะมีรสหวานสามารถทานได้ ส่วนเนื้อในจะมีรสเปรี้ยว เหมือนส้มจี๊ด หรือ บางทีเรียกกันว่า ส้มกินเปลือก ข้อด้อยของส้มชนิดนี้ คือ จะทำการขยายพันธุ์ได้ยาก ไม่สามารถทำการตอนกิ่งได้ หรือ ตอนออกได้ยาก จะใช้วิธีเสียบยอด หรือทาบกิ่งบนตอของส้มครีโอพัตรา ทรอยเย่อร์ หรือ มะนาวควาย (บางท้องที่เรียกมะนาวพวง หรือ มะนาวสีดา)

3. ส้มเขียวหวานบางมด

ลักษณะ คือ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 2-4 เมตร ใบสีเขียวสด ท้องใบออกสีนวลใบยาวเรียว จะกว้างกว่าส้มกิมจ๊อเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู เนี้อมีสีแดง รสชาติหวานอร่อย ชานนิ่มและมีเยื่อน้อย ขยายพันธุ์ได้ทั้งตอนกิ่งหรือเสียบยอด

4. ส้มเช้งและส้มเช้งด่าง

ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดกลางสูง 2-4 เมตร ใบป้อมกว้าง ผลใหญ่ รสชาติหวานอร่อย เปลือกหนากว่าส้มเขียวหวาน ขยายพันธุ์โดยการตอนหรือทาบกิ่ง ส่วนส้มเช้งด่าง จะมีใบและผลด่าง ราคาแพงกว่าส้มเช้งทั่วไป

5. ส้มเกลี้ยง

ลักษณะคล้าย ส้มเช้งแต่มีปลายใบแหลมเรียวกว่าและมีกลิ่นที่ใบฉุนกว่า ส้มชนิดนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ เนื้อสีเหลืองมีรสชาติเข้มข้นกว่าส้มเช้ง ส้มชนิดนี้ต้องห่อด้วยใบตองแห้งตั้งแต่เล็ก เพื่อป้องกัน มวนส้ม และเพื่อเพิ่มรสชาติรวมทั้งทำให้สีผิวของส้มเหลืองสวย

สมัยโบราณ นิยมใช้ส้มชนิดนี้ทำของหวาน ซึ่งเรียกว่า ส้มลอยแก้ว นิยมใช้ถวายพระและทานกันในหมูชนชั้นสูงและคหบดี

6. ส้มแก้ว

ลักษณะคล้าย ส้มเกลี้ยง ปลายใบมน ใบมัน กิ่งก้านจะออกเป็นสีดำ เป็นส้มเปลือกร่อนที่ใหญ่ที่สุด มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ต้องมีการห่อผลตั้งแต่ยังเล็กเช่นกัน มีขนาดผลใหญ่ประมาณผลละ 0.5 กิโลกรัม ผลผลิตมักมีในช่วงปีใหม่ถึงตรุษจีนจะทำให้จำหน่ายได้ราคา

7. ส้มซ่า

ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะใบคล้ายใบส้มโอคือ มีใบยอดและใบรองคล้ายใบมะกรูด ใบรองจะเล็กกว่าใบยอด ผลใหญ่กว่าส้มเช้ง ใช้ผิวนำมาปรุงอาหารไทยโบราณ เช่น โรยหน้าหมี่กรอบ ปลาแนม หรือนำมายำทาน ส่วนน้ำส้มซ่า จะมีรสชาติอร่อย มีวิตามินซี สูง สามารถนำมาปรุงน้ำคลุกหมี่กรอบและปรุงน้ำพริกขนมจีนได้

8. ส้มมะละกอ หรือ เชียงเหย่น

ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง ใบใหญ่ปลายมน มีหนามยาวแหลมคม ลักษณะผลใหญ่ คล้ายลูกมะละกอ เนื้อเปลือกมีรสซ่าเล็กน้อยและมีกลิ่นส้มด้วย เปลือกหนาเป็นส้มทานเปลือกเช่นเดียวกับส้มกิมจ๊อ โดยการนำเนื้อเปลือกสดมาจิ้มน้ำผึ้งทานหรือนำเนื้อเปลือกมาเชื่อมน้ำตาลแล้วย้อมสี นำไปแต่งหน้าฟรุตเค้ก รับประทานได้

9. ส้มมือ

ลักษณะ ใบจะคล้ายส้มมะละกอ แต่ตามลำต้นไม่มีหนามใหญ่ ผลมีลักษณะคล้ายกำปั้นหลวมๆ หรือ บางทีเรียก หัตถ์พระเจ้า ใช้ผลนำมาทำยาแก้ลมวิเวียน ที่เรียกกันว่า ยาดมส้มโอมือ

10. เกรฟฟรุต

ลักษณะ คล้ายส้มทั่วไป ใบบางใหญ่มีหนามแหลมคม เป็นส้มที่เจริญเติบโตได้เร็วมาก และมีโรคน้อยมาก ผลมีลักษณะใหญ่รสเปรี้ยวจัด เหมาะที่จะใช้เป็นต้นตอของส้มต่างๆ

11. ส้มจุก

 

เป็นส้มพื้นเมืองของทางใต้ มีมากที่อำเภอจะนะ จังหวัดนราธิวาส ลำต้นมีทรงพุ่มขนาดกลางสูง 3-5 เมตร ใบจะกว้างใหญ่กว่าส้มทั่วไป ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรค เมื่อผลสุกมีรสหวาน อร่อยกว่าส้มชนิดอื่น

ขยายพันธุ์ด้วยการตอนหรือทาบกิ่ง

 

กลับไปหน้า ต้นไม้