พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า เป็นศูนย์รวบรวม และจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณ และแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยทั้งในอดีต และปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ติดตั้งแสดงอยู่ด้วย


พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องปั้นดินเผาถ้วยชามเบญจรงค์ในสมัยโบราณ และเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านริมน้ำ ตั้งอยู่ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ด้านหลังของวิทยาลัยนาฏศิลป์) หากเข้าชมเป็นหมู่คณะต้อง ติดต่อล่วงหน้าที่ มูลนิธิเสวตร-โสภา เลขที่ 5 ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ

 
    ::หน้าหลัก
    ::วัด
    ::วัง
    ::เกาะรัตนโกสินทร์
    ::พิพิธภัณฑ์
    ::ศูนย์วัฒนธรรม
    ::อนุเสาวรีย์
    ::สวนสาธารณะ
    ::สวนสนุก
    ::แหล่งซื้อของ
    ::ชุมชน
    ::กีฬา
 

 
 
 
 
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดิมสถานที่นี้เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า "มิวเซี่ยม" แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วน กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจนอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีวัดบวรสถานสุทธาวาส ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้าใกล้กับ โรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และชาติเพื่อนบ้าน  

พิพิธภัณฑ์หินแปลก
ตั้งอยู่ในอาคารเลขที่ 1048-1054 ถนนเจริญกรุง ระหว่างซอย 26 และซอย 28 เขตบางรัก เป็นสถานที่จัดแสดงหินซึ่งมีรูปทรงแปลก ๆ และลวดลายบนเนื้อหินสวยงาม เป็นจำนวนนับพันชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่พบในประเทศไทย แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ตามแต่ผู้ชมจะจินตนาการเป็นรูปร่างหรือเรื่องราวต่าง ๆ นอกจากนี้ชั้นบนยังจัดแสดงของสะสมประเภทบุหรี่ ไม้ขีด ที่เขี่ยบุหรี่ทั้งของไทยและต่างประเทศ
 
 
พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารเภสัชกรรีมสมาคม เลขที่ 40 ซอยสันติสุข สุขุมวิท 38 เยื้องกับซอยทองหล่อ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รู้ประวัติการแพทย์แผนไทยจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงเรื่องราวตามหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ต้นกำเนิดวิชาชีพเภสัชกรรม วิวัฒนาการเภสัชกรรมแผนตะวันออกและภูมิปัญญาพื้นฐาน วิวัฒนาการเภสัชกรรมไทยแผนตะวันตก วิวัฒนาการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
 
 
พิพิธภัณฑ์บ้านคึกฤทธิ์ ตั้งอยู่เลขที่ 19 ซอยพระพินิจ ถนนสาทรใต้ เป็นบ้านเรือนไทยท่ามกลางสวนสวยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมท ปูชนียบุคลท่านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยทั้งด้านการเมือง และศิลป
 
 
บ้านพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่เลขที่ 170/17 หมู่ 7 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ10170 หากขับรถมาตามถนนพุทธมลฑลสาย 2
ไปด้านทางรถไฟหรือคลองมหาสวัสดิ์จนสุด จะพบถนนธรรมสพน์เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายพิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่จัดแสดงข้าวของของชาวเมืองชาวบ้านทั้งของเก่าและของใหม่ หลากหลายประเภท เช่น ของเล่น หนังสือ เครื่องเขียน เครื่องครัว และของใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ จึงเปรียบเสมือนคลังมรดกถ่ายทอดอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างอยู่ในพื้นที่ 58 ตารางวาเป็นอาคารสมัยใหม่กว้าง 3 คูหา สูง 3 ชั้นครึ่ง ชั้นล่างจำลองร้านค้าในอดีตเพื่อย้อนบรรยากาศยุคก่อนพ.ศ. 2500 ทั้งร้านขายกาแฟ ร้านขายยา ร้านตัดผม เป็นต้น รวมทั้งมีห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียนตามหัวข้อต่าง ๆ ด้วย
 

พิพิธภัณฑ์เด็ก ตั้งอยู่ในบริเวณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจสำหรับให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกติ
 

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตั้งอยู่ในอาคารกรมโยธาธิการเดิมบริเวณสี่แยกผ่านฟ้า เขตพระนคร ตึกหลังนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6-7 ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 หาดูได้ยาก รวมทั้งจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7 องค์ปฐมกษัตริย์ระบบประชาธิปไตยของไทย เป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกที่สมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยมาใช้ในการอธิบายและนำชม
 

พิพิธภัณฑ์มด ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ตึกวนศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นสถานที่จัดเก็บตัวอย่างมด เพื่อการศึกษา เนื่องจากมดเป็นสัตว์สังคมที่น่าสนใจ มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวบ่งชี้คความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สำหรับมดในประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 800-1,000 ชนิด
 
 
พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ตั้งอยู่ในสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนราชสีมา เขตดุสิต (ตรงข้ามสถาบันราชภัฏสวนดุสิต) รวบรวมเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ในวงการหนังสือพิมพ์ไทย ความเป็นมาของผู้มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ อาทิ หมอบรัดเลย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ โดยจัดแสดงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย และมีหุ่นขี้ผึ้งแสดงการทำงานของนักข่าวในอดีตด้วย
 
 
พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณชั้น 3 อาคารวิจัยและตรวจสอบอัญมณี ตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ และกระตุ้นเยาวชนและบุคคลทั่วไปให้ตระหนักถึงคุณค่าของอัญมณี และเน้นย้ำภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมพลอยสีและเครื่องประดับของโลก สร้างสรรค์แรงบันดาลใจแก่นักออกแบบ ตลอดจนอนุรักษ์ตัวอย่างอัญมณีไว้สำหรับคนรุ่นหลัง สิ่งของที่จัดแสดงมีทั้งอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับบริจาคจากเอกชน โลหะมีค่าสำหรับทำเครื่องประดับ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการทำเครื่องประดับ และยังมีการขอยืมชิ้นงานจากบริษัทจิวเวลลี่ต่าง ๆ มาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจัดแสดง ส่วนนิทรรศการถาวรประกอบด้วยการแสดงประวัติความเป็นมาของอัญมณีและเครื่องประดับ การแสดงแบบจำลองเหมืองอัญมณี ขั้นตอนการผลิต เช่น การคัดขนาด การตัดแบ่ง การเจียระไน และขัดเงา นับว่าเป็นแหล่งความรู้และข้อมูลที่สำคัญสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณี จะเปิดในราวเดือนตค. 2545 (ไทยรัฐ 28 กพ. 45)
 
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยตรงข้ามสถานีรถไฟธนบุรี เป็นอู่เก็บเรือที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรือเหล่านี้เป็นเรือขุดทั้งสิ้น
 
 
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำหนักวังบางขุนพรหม ภายในบริเวณเดียวกันกับธนาคาร แห่งประเทศไทย จัดแสดงสื่อในการแลกเปลี่ยนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องเงินตราโบราณ ห้องเงินพดด้วง ห้องกษาปณ์ไทย ห้องธนบัตรไทย ห้องทองตรา ห้อง 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ในวันจันทร์-เสาร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร ตั้งแต่เวลา 10.00 -16.00 น. โดยต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในวันเสาร์
 
พิพิธภัณฑ์แร่ และหิน ตั้งอยู่ตรงข้ามกระทรวงการต่างประเทศ ถนนพระราม 6 ติดกับโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นหน่วยงานในความดูแลของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมวัตถุพวก แร่ หิน ซากดึกดำบรรพ์ และเครื่องมือ เครื่องใช้โบราณที่ทำจากแร่ หิน มาจัดแสดงโดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือ ด้านธรณีวิทยา ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องกำเนิดโลก การเปลี่ยนแปลงเปลือกโลก แร่หิน ซากดึกดำบรรพ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ทรัพยากรแร่ ได้แก่ แร่เศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ
 
 

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร ตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 อาคารสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ (หลังไปรษณีย์สามเสนใน) จัดแสดงแสตมป์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และแสตมป์ของประเทศสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดจัดเก็บหนังสือรวบรวมความรู้เรื่องการไปรษณีย์ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ในบริเวณเดียวกันยังมีการจำหน่ายแสตมป์ และอุปกรณ์เพื่อการสะสมแสตมป์ด้วย
 

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ตั้งอยู่ในอาคารที่ทำการเก่าของสหภาพแรงงานการรถไฟมักกะสัน ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน พญาไท จัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานในด้านต่าง ๆ เช่น ประวัติผู้นำแรงงานที่สำคัญ ๆ ในอดีต รูปภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของผู้ใช้แรงงาน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.
 
 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ เป็นพิพิธภัณฑ์กล้อง และภาพถ่ายแห่งแรกในประเทศไทย และเอเซีย ตั้งอยู่ที่อาคารของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รวบรวม และแสดงประวัติความเป็นมาของภาพถ่ายประวัติศาสตร์ และอุปกรณ์การถ่ายภาพต่าง ๆ นอกจากนี้ยังจัดแสดงความความก้าวหน้าด้านภาพสามมิติ ภาพอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีการแยกสี รวมถึงการพิมพ์อีกด้วย
 
 
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน เป็นสถานที่เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดในประเทศไทย ภายในมีปลานานาชนิด จัดให้มีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
 
 
พิพิธภัณฑ์ปราสาท ตั้งอยู่เลขที่ 9 ซอย 4 A ถนนกรุงเทพกรีฑา ซึ่งตัดแยกจากถนนศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสิ่งของตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และมีการจำลองสถาปัตยกรรมที่งดงามหลายรูปแบบ เช่น ตึกฝรั่ง ตำหนักแดงซึ่งได้จำลองมาจากตำหนักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอพระซึ่งจำลองมาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น
 
 
หอสมุดแห่งชาติ เดิมริเริ่มตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวังมีชื่อว่า "หอสมุดวชิรญาณ" ต่อมาได้ขยับขยาย มาสร้างขึ้นบริเวณท่าวาสุกรี ในปี พ.ศ. 2509 เป็นอาคารใหญ่สูง 4 ชั้น ปัจจุบันได้ขยายการบริหารค้นคว้าออกไปมาก ประกอบด้วย หอพระสมุดวชิรญาณ ใช้เป็นสถานที่เก็บศิลาจารึก และตู้พระธรรม ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร ห้องหนังสือภาษาโบราณ ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ห้องโสตทัศนวัสดุ สุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังมีบริการฉายภาพยนตร์สารคดี และจัดอภิปรายที่ห้องประชุมหอสมุดฯ และนิทรรศการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำ
 
 
หอสมุดดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่ ณ บริเวณวังวรดิศ ถนนหลานหลวง เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทั้งในสมัยเก่า และสมัยปัจจุบัน เป็นห้องสมุดอนุสรณ์เชิดชูพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีบริการโสตศึกษา
     
   
   
   
   
Home | Site Map| Contact Us |
ประวัติศาสตร์ | การปกครอง |
สถานที่ท่องเที่ยว | การคมนาคม | เทศกาล
Copyright 2003.All right reserve by www.SawasdeeBangkok.com