กู้ยืม l จำนอง l ขายฝาก l ฟ้องขับไล่ l มรดก l คำพิพากษาศาลฎีกา l แนะนำสำนักงานทนายความ
 กระดานคำถาม l ทนายบอร์ด l สมุดเยี่ยม l เวบลิ้งค์ l เพิ่มลิ้งค์ l



การกู้ยืมเงิน

หลักกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินนั้น เป็นกฎหมายที่มีบทบังคับว่าเจ้าหนี้ หรือผู้ให้กู้ จะต้องมีเอกสารหลักฐานการกู้เงินไว้ โดยให้ลูกหนี้หรือผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในหลักฐานนั้น มิฉะนั้น ผู้ให้กู้อาจจะต้องสูญเงินไปได้ เนื่องจากข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งเขียนไว้ว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อผู้ที่ต้องรับผิดไว้ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนลูกหนี้ เมื่อนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้แล้ว จะต้องให้เจ้าหนี้ทำหลักฐานการรับเงินไว้ มิฉะนั้น หากถูกฟ้องขึ้นมา จะไม่มีหลักฐานการชำระเงินแสดงต่อศาล ผลก็คือจะต้องชำระหนี้เป็นรอบที่สอง โดยไม่มีข้อโต้แย้ง อีกอย่างคือ หนี้เงินกู้นั้น ถ้ามีมูลหนี้มาจากสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายละก็ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ เช่น เป็นหนี้จากการพนันแล้วเขียนสัญญาเงินกู้ไว้ เป็นต้น
หากคุณอยู่ในฐานะเหล่านี้ คุณมีสิทธิและหน้าที่แค่ไหน

เมื่อคุณเป็นเจ้าหนี้
หากวันนี้คุณอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ หรือกำลังจะเป็นเจ้าหนี้ สิ่งที่คุณจะต้องมีหรือต้องทำก็คือ สัญญาเงินกู้ ซึ่งสัญญานี้คุณจะเขียนขึ้นเอง หรือจะไปซื้อตามที่มีขายในท้องตลาดก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญของสัญญาอยู่ตรงที่ เมื่ออ่านข้อความในสัญญาแล้ว จะต้องจับใจความว่า ใครเป็นผู้กู้ กู้ไปเท่าไร และมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ไว้ด้วย เพียงเท่านี้คุณก็สามารถที่จะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้แล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆคุณอาจจะเพิ่มเติมไปได้ เช่น
เรื่องอัตราดอกเบี้ย ในเรื่องดอกเบี้ยนี้ กฎหมายให้สิทธิคุณไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น (ยกเว้นพวกที่เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน) หากคุณเรียกเกินกว่านี้ก็จะเป็นโมฆะในส่วนของดอกเบี้ย คือเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ แต่ในส่วนของเงินต้นยังเรียกคืนได้ แต่หากคุณไม่ได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา คุณก็สามารถเรียกได้แค่ ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ให้คุณแล้ว นอกจากนี้ หากลูกหนี้ไม่เคยชำระหนี้คุณเลย คุณก็สามารถที่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียง 5 ปีเท่านั้น
ระยะเวลาการชำระหนี้ ผลของการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คือ
1. ถ้าคุณกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้
ผลดีก็คือ ระยะเวลาการนับอายุความจะยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
ผลเสียก็คือ สิทธิในการเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ยังไม่เริ่ม จนกว่าจะถึงกำหนด นั่นหมายความว่า หากยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระหนี้ คุณยังไม่มีสิทธิไปฟ้องเขานั่นเอง
2. หากว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้
ผลดีก็คือ คุณสามารถที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เมื่อไรก็ได้ แต่คุณต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบเป็นหนังสือและกำหนดระยะเวลาให้เขาก่อน ว่าให้นำมาชำระภายในกี่วัน เช่น 7 วัน หรือ 15 วัน ก็แล้วแต่คุณ หากไม่ชำระให้คุณภายในเวลาที่กำหนด คุณก็สามารถฟ้องร้องได้ทันที
ผลเสียก็คือระยะเวลาในการนับอายุความจะเริ่มนับทันที นั่นก็คือคุณจะต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลภายในเวลากำหนดอายุความ มิฉะนั้น คุณจะหมดสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีทันที
เมื่อคุณทราบถึงผลดีผลเสียแล้ว เป็นเรื่องของคุณที่จะพิจารณาว่า จะนำวิธีใดไปใช้ที่คุณคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง

เมื่อคุณเป็นลูกหนี้

คำว่าลูกหนี้คงไม่มีใครอยากจะเป็น แต่ถ้าจะต้องเป็นจริงๆแล้ว ควรคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองให้ดี เมื่อคุณอยู่ในฐานะของลูกหนี้ คุณมีโอกาสที่จะถูกเอาเปรียบได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ยอมเขาก็จะไม่ได้กู้ เมื่อถึงตาจนเข้ายังไงก็ต้องยอม ฉะนั้น หากคุณสามารถที่จะรักษาสิทธิของตนเองได้มากเท่าไร ก็จะเป็นผลดีต่อคุณมากเท่านั้น สิ่งที่คุณจะต้องพึงระวังคือ
ประการแรก เมื่อวันที่คุณไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ให้คุณทำสัญญา ก่อนที่คุณจะลงลายมือชื่อในสัญญานั้น คุณจะต้องอ่านข้อความในสัญญาให้ดี ว่าจำนวนเงินที่เขียนไว้ตรงกับจำนวนเงินที่คุณกู้หรือเปล่า อย่าปล่อยปละละเลย มิฉะนั้น ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องคุณ คุณไม่สามารถที่จะยกเป็นข้อโต้แย้งใดๆได้เลย และอย่าลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าๆ จะมีผลเสียต่อคุณเหมือนกัน
ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ย กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียกดอกเบี้ยกันได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น(ยกเว้นพวกธนาคารหรือสถาบันการเงิน) หากเรียกกันเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็จะเป็นโมฆะในส่วนของดอกเบี้ย แต่เงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งเรื่องดอกเบี้ยนั้นสามารถใช้ยกขึ้นอ้างเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้
ประการที่สาม หากมีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้กันไว้ คุณมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ก่อนถึงกำหนดได้ แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิจะเรียกให้คุณชำระก่อนจะถึงกำหนดได้ เว้นเสียแต่ว่าในสัญญาเงินกู้นั้นมีเงื่อนไขหรือข้อสัญญาอื่นๆอีก แล้วระบุไว้ว่าหากคุณผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าผิดสัญญาทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องคุณได้ก่อนถึงระยะเวลาการชำระหนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อไปกู้เงินจากธนาคาร ธนาคารจะให้คุณผ่อนคืนเป็นรายเดือนโดยกำหนดจำนวนเงินไว้ในแต่ละเดือน นี่ก็คือข้อสัญญาหรือเงื่อนไข ซึ่งหากคุณไม่ชำระหนี้ให้เขาตามที่กำหนด ก็ถือว่าคุณผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขกับธนาคารแล้ว ธนาคารมีสิทธิที่จะเรียกเงินคืนทั้งหมดได้ และหากคุณไม่คืน ธนาคารก็จะฟ้องคุณ โดยไม่ต้องไปดูว่าจะถึงกำหนดชำระหนี้เมื่อใด
ประการที่สี่ การคิดดอกเบี้ยทบต้น ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้น หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นกับคุณ คุณไม่จำเป็นต้องจ่าย
ประการที่ห้า เมื่อคุณนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้แล้ว หากชำระเป็นบางส่วนไม่ชำระทั้งหมด คุณจะต้องให้เจ้าหนี้ออกใบรับเงินหรือใบเสร็จให้แก่คุณด้วย หรืออาจจะให้เจ้าหนี้เขียนว่า "ได้รับชำระหนี้ไว้แล้วเป็นจำนวน........บาท" และลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเงินกู้เลยก็ได้ และถ้าเกิดว่าคุณพร้อมจะชำระหนี้แล้ว แต่หาเจ้าหนี้ไม่เจอคุณจะทำอย่างไร ทางออกก็คือ คุณสามารถที่จะนำเงินที่เตรียมไว้ชำระหนี้ ไปติดต่อขอวางเงินไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งจะมีอยู่ทุกจังหวัดได้ หากไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็ไปสอบถามข้อมูลได้ที่ศาล แต่คุณต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก่อนนะ อย่าไปวางไว้เฉยๆ ไม่เช่นนั้นหายแน่ๆ ข้อดีของการวางทรัพย์ก็คือ คุณจะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดการชำระหนี้ ซึ่งถ้าคุณตกเป็นผู้ผิดนัดการชำระหนี้แล้ว คุณอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มให้แก่เจ้าหนี้อีก ทั้งๆที่คุณไม่ควรจะต้องเสีย และถ้าเป็นเรื่องการขายฝากด้วยแล้ว การชำระหนี้ให้ตรงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นผลเสียย่อมเกิดกับคุณแน่ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ "การขายฝาก"

ตัวอย่างสัญญาเงินกู้


สัญญากู้ยืมเงิน

ทำที่.........................................................
วันที่........................................................

สัญญานี้ทำขึ้นระหว่าง.........................................................อยู่บ้านเลขที่.......หมู่........ ถนน......................ตำบล....................อำเภอ............จังหวัด.............ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่าผู้ให้กู้ "ฝ่ายหนึ่ง กับ...................................อยู่บ้านเลขที่........หมู่.........ถนน.................ตำบล....................อำเภอ............จังหวัด............. ซึ่งต่อไปในสัญญาจะเรียกว่า "ผู้ให้กู้" อีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงทำสัญญากันดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้กู้ได้กู้เงินจากผู้ให้กู้ไปเป็นจำนวนเงิน...............บาท โดยผู้กู้ได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญานี้
ข้อ 2. ผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระภายใน..... ................... และจะนำเงินต้นมาคืนแก่ผู้ให้กู้ทั้งหมดภายในวันที่.............................
ข้อ 3. ในการกู้ครั้งนี้ ผู้กู้ได้นำ............. ...............................มามอบให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้ในครั้งนี้
เพื่อเป็นหลักฐาน จึงได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน
ลงชื่อ.........................................ผู้กู้
ลงชื่อ.........................................ผู้ให้กู้
ลงชื่อ..........................................พยาน
ลงชื่อ..........................................พยาน



กลับหน้าแรก

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่  tanay27@hotmail.com
โฮมเพจนี้เกิดมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543