กู้ยืม l จำนอง l ขายฝาก l ฟ้องขับไล่ l มรดก l คำพิพากษาศาลฎีกา l แนะนำสำนักงานทนายความ
 กระดานคำถาม l ทนายบอร์ด l สมุดเยี่ยม l เวบลิ้งค์ l เพิ่มลิ้งค์ l


มรดก

เรื่องที่ยุ่งที่สุดคงไม่พ้นเรื่องนี้ บางทีพี่น้องกันยังฆ่ากันได้ ก็เพราะทรัพย์มรดกนี่แหละ ต่างคนก็อยากจะได้ เท่าที่ผมเจอมาส่วนใหญ่ จะเป็นพวกรุ่นหลานๆแล้วที่ยังมาแย่งกันอยู่ ตอนรุ่นลูกนั้นตกลงกันได้ไม่มีปัญหา แต่ยังไงเรื่องมันก็เกิดได้อยู่ดีถ้าไม่รู้จักละเสียบ้าง ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือทำอะไรให้มันถูกต้องซะดีกว่า และก็ตกลงอะไรกันไว้ก็ควรทำเป็นหลักฐานไว้หน่อย เพื่อป้องกันการมีปัญหาภายหลัง เริ่มเรื่องกันดีกว่า
ในหัวข้อนี้จะพูดถึงเรื่อง ผู้มีสิทธิรับมรดกและการรับมรดกแทนที่/ การเสียสิทธิในการรับมรดก/ การสละมรดก/ แบบและการเขียนพินัยกรรม/ การเพิกถอนพินัยกรรม/ การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท/ และอายุความ


อ่านรายละเอียดข้างล่างนี้


 
รายละเอียดตามหัวข้อ

*ผู้มีสิทธิรับมรดกและการรับมรดกแทนที่ 
* การเสียสิทธิในการรับมรดก 
* การสละมรดก 
* แบบและการเขียนพินัยกรรม 
* การเพิกถอนพินัยกรรม 
* การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท 
* อายุความ 

   

ผู้มีสิทธิรับมรดกและการรับมรดกแทนที่

เมื่อผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดมา บุคคลผู้ที่จะมีสิทธิรับมรดกมีอยู่ด้วยกัน 6 ลำดับชั้นคือ 1.) ผู้สืบสันดาน ก็คือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรที่บิดารับรองแล้ว 2.) บิดามารดา 3.) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4.) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5.) ปู่ ย่า ตา ยาย 6.) ลุง ป้า น้า อา นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้วบุคคลอื่นไม่มีสิทธิ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ตายเขียนพินัยกรรมยกให้ใครไว้ ผู้นั้นก็มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งอาจจะเป็นลูก หลาน หรือบุคคลอื่นก็ได้
ที่กล่าวมานี่มิใช่ว่าจะได้รับทั้งหมด ยังมีข้อแม้ว่าการรับมรดกนี้จะมีสิทธิรับกันเป็นลำดับชั้น คือ 1, 2, 3, 4, 5, 6 ถ้ามีลำดับไหนอยู่ก็เป็นการตัดชั้นอื่นไป เช่น ถ้ามีลูก คือชั้นที่ 1 อยู่ ก็จะตัดชั้นที่ 2-6 ไปในตัว นี่เป็นตัวอย่างให้พอเข้าใจนะ เพราะจริงๆแล้วกฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่บิดามารดาด้วย คือ ถึงแม้จะมีบุตรอยู่ แต่ถ้าบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ก็ให้รับเท่าๆกับบุตร สมมุติว่านายไก่ตาย ก็ดูว่านายไก่มีลูกหรือไม่ พ่อแม่ยังมีชีวิตหรือไม่ ถ้ามีก็รับกันไป แต่ถ้าไม่มีก็ดูในลำดับต่อไปคือพี่น่องร่วมบิดามารดา ถ้าไม่มีอีกก็พี่น้องที่ร่วมแต่เฉพาะบิดาหรือเฉพาะมารดา ตามลำดับไปเรื่อยๆ ส่วนคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย คือได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็มีสิทธิได้รับเหมือนกัน แต่จะมีส่วนแบ่งเท่าไรก็ต้องดูว่ามีทายาทชั้นไหนเหลืออยู่บ้าง ถ้าชั้นบุตรยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับเท่าๆกัน แต่ถ้าไม่มีทายาทชั้นบุตรมีแต่บิดามารดา หรือไม่มีชั้นบุตรชั้นบิดามารดามีแต่ชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรสจะได้ครึ่งหนึ่ง ถ้าเหลือแต่พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา หรือเหลือแต่ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสจะได้รับ 2 ใน 3 ส่วน
การรับมรดกนั้นมิใช่จะดูว่าลำดับชั้นต้นๆไม่มีแล้วก็ให้ลำดับชั้นอื่นมารับ ต้องดูอีกว่าถ้าไม่มีทายาทชั้นนั้นแล้ว มีผู้รับแทนที่หรือไม่ ถ้ามีก็รับให้แทนที่ เช่น ลูกตายก่อนพ่อแม่ พอพ่อแม่ตายทรัพย์มรดกจะตกแก่หลาน รุ่นหลานจะเข้ามารับมรดกแทนที่ แต่ถ้าไม่มีผู้รับมรดกแทนที่จึงจะให้ลำดับชั้นต่อมาเป็นผู้รับ

การรับมรดกแทนที่นั้น เป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิจะรับไม่มีชีวิตอยู่ในขณะที่รับมรดก พูดง่ายๆก็คือตายก่อนเจ้ามรดก เมื่อตายไปแล้วผู้ที่จะรับแทนก็คือบุตรของผู้นั้น แต่มีข้อแม้ว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับมรดก ที่ตายก่อนเจ้ามรดกนั้น จะต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกตัดมิให้รับมรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายด้วย ถ้าถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตายรับแทนที่ได้ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวการถูกตัดและถูกกำจัดมิให้รับมรดกในหัวข้อการเสียสิทธิในการรับมรดก) การจะรับมรดกแทนที่นั้น สิ่งแรกต้องคำนึงถึงก่อนก็คือ ใครมีสิทธิรับบ้าง ก็ดูกันไปตามลำดับชั้น เมื่อมีสิทธิรับแล้วแต่คนๆนั้นตายก่อนเจ้ามรดก ก็ให้ลูกรับไปแทน ถ้าลูกตายก่อนอีกก็ให้ลูกของลูกของลูกรับต่อกันไปจนหมด มีข้อสังเกตุอยู่นิดคือเฉพาะลูกของลูกเท่านั้นภรรยาของลูกนั้นจะไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ลูก การรับมรดกแทนที่นั้น มีทายาทอยู่ 2 ประเภทที่ทายาทของผู้นั้นไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้คือ ลำดับชั้นที่ 2 กับชั้นที่ 5 คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีสิทธิรับมรดก แต่ถ้าเกิดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว จะไม่มีการรับมรดกแทนที่กันอีก


กลับสู่ด้านบน


 

การเสียสิทธิในการรับมรดก

การเป็นทายาทนั้นทำให้มีสิทธิได้รับมรดก แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเสียสิทธิได้เหมือนกัน ซึ่งการเสียสิทธิในการรับมรดกนี้มีอยู่ 4 กรณีด้วยกันคือ
1. ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
2. ถูกตัดมิให้รับมรดก
3. สละมรดก
4. ไม่ได้เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในอายุความ
ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการถูกกำจัดมิให้รับมรดก และการถูกตัดมิให้รับมรดก ส่วนการสละมรดกกับอายุความจะแยกไปอีกหัวเรื่องหนึ่ง

1. การถูกกำจัดมิให้รับมรดก เหตุที่ทายาทจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกได้ มีอยู่ 2 กรณีคือ
ก.) เป็นผู้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
ข.) เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร

ก.) เป็นผู้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก การถูกกำจัดตามข้อนี้เป็นการถูกกำจัดเนื่องจากทายาทคนใดคนหนึ่ง ได้ทำการยักย้ายถ่ายเท หรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น เป็นการกระทำหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว หมายความว่าตอนเจ้ามรดกตายนั้นยังมีสิทธิรับมรดกอยู่ แต่อาจจะเกิดความโลภจึงได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกเพื่อที่ตนจะได้มากกว่าคนอื่น ผลก็คือต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก

ข.) เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เป็นการกระทำที่อาจจะเกิดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายก็ได้ มีอยู่ 5 เหตุคือ

(1) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำ ให้เจ้ามรดกหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตาย
ตามเหตุนี้เป็นกรณีที่เกิดก่อนเจ้ามรดกตาย ส่วนกระทำแล้วเจ้ามรดกจะตายหรือไม่ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่ามีเจตนากระทำและเมื่อกระทำแล้ว ถูกฟ้องศาลและศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วได้กระทำความผิดจริง ก็จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่กรณีนี้บุตรสามารถที่จะรับมรดกแทนที่กันได้

(2) ผู้ที่ได้ฟ้องต่อศาลกล่าวหาเจ้ามรดกว่า ได้กระทำความผิดที่มีโทษประหารชีวิต แต่ตนเองกลับถูกฟ้องว่าฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้นั้นได้ฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ทายาทผู้นั้นก็จะถูกกำจัด แต่บุตรของทายาทผู้นั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียน เพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ความตามข้อนี้หมายถึงว่า ต้องได้ความว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ตายโดยประมาท หรือโดยไม่เจตนา ย่อมไม่อยู่ในความหมายนี้ และทายาทต้องรู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาด้วย แต่ไม่ร้องเรียนหรือก็คือไปแจ้งความเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทายาทผู้นั้นจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การกระทำตามข้อนี้ไม่ใช้บังคับกับคน 3 ประเภทคือ 1.) ทายาทที่อายุไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ 2.) ทายาทที่วิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ 3.) ผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือลูกของตน และการถูกกำจัดตามข้อนี้ ทายาทของผู้ถูกกำจัดไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าว
เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งใจทำพินัยกรรม หรือทำไว้แล้วแต่ไม่ได้ตั้งใจจะเพิกถอน แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ให้ทำหรือให้เพิกถอน หรือในทางกลับกัน เจ้ามรดกตั้งใจจะทำพินัยกรรมหรือตั้งใจจะเพิกถอนพินัยกรรม หรืออาจต้องการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่มิให้ทำการดังกล่าว ไม่ว่าอย่างใดก็ตามล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้พินัยกรรมนั้นไม่ได้เป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของเจ้ามรดก ฉะนั้น ผู้ที่กระทำจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่ทายาทของผู้นั้นรับมรดกแทนที่ได้

(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมด
การกระทำตามข้อนี้ไม่ว่าจะกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม ก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก ส่วนทายาทของผู้นั้นจะรับมรดกแทนที่ได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่ากระทำก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย ถ้ากระทำก่อนก็รับมรดกแทนที่ได้ ถ้ากระทำทีหลังก็รับมรดกแทนที่ไม่ได้
การถูกกำจัดนี้หากว่าเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ เจ้ามรดกอาจทำการถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษร

2. การถูกตัดมิให้รับมรดก อาจจะแสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ การแสดงออกโดยชัดแจ้งอาจทำโดยพินัยกรรม เช่น "ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ลูกคนที่หนึ่งกับลูกคนที่สาม ส่วนลูกคนที่สองกับคนที่สี่ไม่ขอยกทรัพย์สินใดๆให้เป็นอันขาด" เป็นต้น หรืออาจจะทำโดยทำเป็นหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยระบุชื่อทายาทโดยชัดแจ้งว่าตัดมิให้รับมรดก ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่นายอำเภอ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2481 และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495
ส่วนการแสดงเจตนาโดยปริยาย ก็คือการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายมรดกเสียทั้งหมด หมายถึงว่ายกทรัพย์สินให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปทั้งหมดเลย จะต่างกับกรณีแรกซึ่งกรณีแรกทำพินัยกรรมไว้เหมือนกัน แต่จะระบุไว้ด้วยว่านอกจากบุคคลที่ยกให้แล้ว ไม่ให้บุคคลอื่นอีก แต่กรณีหลังนี้ไม่ได้ระบุเอาไว้ ซึ่งการกระทำกรณีหลังมิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของเจ้ามรดก หากแต่กฎหมายไม่ให้สิทธิทายาทโดยธรรมที่จะรับมรดก ซึ่งย่อมทำให้ทายาทผู้นั้นหมดสิทธิในการรับมรดก ตัวอย่างเช่น ก. ทำพินัยกรรมว่าเมื่อตนตายแล้ว ให้ทรัพย์มรดกของตนตกได้แก่ ข. คนเดียว หรืออาจจะเป็นว่า ก. ทำพินัยกรรมว่าตนตายแล้ว ให้ทรัพย์มรดกคือที่ดินที่ตนอาศัยตกได้แก่ ข. ทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่ให้เป็นของ ค. ทั้งสิ้น เป็นต้น แต่ถ้าเกิดว่า ก.ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้ ข. รถยนต์หนึ่งคันให้ ค. และแหวนเพชร 1 วงให้ ง. กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการตัดโดยปริยาย เพราะขณะที่ ก.ทำพินัยกรรม ก. จะมีทรัพย์สินเพียง 3 อย่างนี้เท่านั้น แต่กว่า ก.จะตายอาจมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้
เมื่อทายาทถูกตัดแล้ว หากเจ้ามรดกเกิดสงสารขึ้นมาก็สามารถถอนการตัดได้ การถอนนั้นถ้าตัดโดยพินัยกรรมก็จะต้องถอนโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้กับทายาทคนนั้นอย่างเดียว แต่ถ้ากรณีที่ไปทำหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะถอนโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลนั้น หรือจะถอนโดยการทำหนังสือไปมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้
ผลของการถูกตัดมิให้รับมรดกก็คือ ทายาทผู้นั้นไม่มีสิทธิรับมรดกอีกต่อไป และทายาทของผู้ถูกตัดก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย


กลับสู่ด้านบน


 

การสละมรดก


การสละมรดก เป็นกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก แสดงเจตนาที่จะไม่รับมรดกในส่วนที่ตนได้ การแสดงเจตนานั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อเจ้ามรดกได้ตายไปแล้วเท่านั้น หากเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาสละมรดก และการสละมรดกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ผู้สละมรดกต้องไปทำเป็นหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือนายอำเภอหรือถ้าในกรุงเทพก็คือผู้อำนวยการเขต หรืออาจจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทก็ได้ นอกจากนี้การสละมรดกนั้น จะต้องสละทั้งหมดจะสละเพียงบางส่วนหรือมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ เมื่อสละมรดกแล้วก็จะถอนไม่ได้เช่นเดียวกัน
ผลของการสละมรดก ถ้าสละมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บุตรของผู้นั้นก็เข้ารับมรดกแทนที่ได้ แต่ถ้าอยู่ในฐานะผู้รับพินัยกรรมแล้วสละมรดก บุตรของผู้ที่สละไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้


กลับสู่ด้านบน


 

แบบและการเขียนพินัยกรรม


บุคคลที่จะมีความสามารถทำพินัยกรรมได้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป การเขียนพินัยกรรมสามารถกระทำ 5 แบบคือ
1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา
2.) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
3.) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
4.) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5.) พินัยกรรมแบบด้วยวาจา

1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา จะต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การทำในลักษณะนี้จะใช้วิธีเขียนเอาหรือใช้พิมพ์ก็ได้ เพียงแต่ต้องระบุวัน เดือน ปี ที่ทำขึ้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมต่อหน้าพยานสองคนเป็นอย่างน้อย มากกว่าได้แต่น้อยกว่าไม่ได้ และพยานเหล่านั้นก็ต้องลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

2.) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมแบบนี้จะคล้ายกับแบบธรรมดา แต่ต่างกันตรงที่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องเป็นผู้เขียนข้อความเองทั้งหมด ส่วนพินัยกรรมแบบธรรมดาจะพิมพ์ทั้งหมดแล้วผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่ออย่างเดียวก็ได้ ส่วนข้อความนั้นก็หมายถึงข้อความที่ระบุว่าจะยกทรัพย์สินให้กับใคร ส่วนข้อความอื่นๆไม่ต้องเขียนเองก็ได้ เนื่องจากเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843-1844/2524 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ตายเขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ก็เป็นพินัยกรรมที่ใช้ได้ ถือเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ และข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ไม่จำเป็นต้องมีพยาน ขณะที่พินัยแบบธรรมดาจะขาดพยานไม่ได้ ส่วนวัน เดือน ปีที่ทำนั้น แบบธรรมดาต้องลงในวันที่ทำขึ้นเลย ส่วนแบบเขียนเองทั้งฉบับไม่ได้บังคับว่าจะต้องเขียนในวันที่ทำพินัยกรรม

3.) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมแบบนี้จะต้องให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้ทำให้ เสร็จแล้วผู้ที่ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อของตนไว้ และจะต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อไว้ด้วย พยานสองคนนี้ไม่นับรวมถึงนายอำเภอ ฉะนั้นนายอำเภอจะเป็นพยานไม่ได้ และที่สำคัญคือนายอำเภอจะต้องเขียนรับรองว่าพินัยกรรมนี้ได้ทำขึ้นโดยถูกต้อง และจะต้องมีตราตำแหน่งประทับไว้ด้วย

4.) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำได้ทำขึ้นโดยจะเขียนหรือพิมพ์ขึ้นเอง หรือผู้อื่นเขียนให้ก็ได้แล้วลงลายมือชื่อ เสร็จแล้วทำการใส่ซองปิดผนึกและลงลายมือชื่อตรงคาบรอบผนึกนั้นด้วย จากนั้นจะต้องเอาไปให้นายอำเภอเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ขณะที่เอาไปให้นายอำเภอนั้น จะต้องนำพยานไปด้วยอีกสองคน ในกรณีที่มีผู้อื่นเขียนให้ จะต้องแจ้งชื่อที่อยู่ของผู้เขียนให้นายอำเภอทราบด้วย เมื่ออยู่ต่อหน้านายอำเภอจะต้องให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอและพยานว่า เป็นพินัยกรรมของตน แล้วนายอำเภอจะจดถ้อยคำนั้นไว้บนซองประทับตราตำแหน่งไว้ แล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมกับพยานลงลายมือชื่อไว้บนซองนั้น เป็นอันเสร็จสิ้น

5.) พินัยกรรมแบบด้วยวาจา เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นในภาวะฉุกเฉิน ไม่สามารถที่จะทำขึ้นในลักษณะอื่นได้ โดยจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษ เช่น ผู้ที่ทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย อยู่ในเรือที่กำลังจะล่ม ในสถานที่ที่เกิดสงคราม เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมจะแสดงเจตนาของตนกำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งอยู่ด้วยกันในขณะนั้นว่า เมื่อตนตายไปแล้วจะยกทรัพย์สินให้ใครบ้าง หลังจากนั้นแล้ว พยานสองคนนั้นจะต้องรีบแสดงตนต่อหน้านายอำเภอโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ พร้อมกับแจ้งข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้, วันเดือนปี, สถานที่ที่ทำพินัยกรรม, และพฤติการณ์พิเศษนั้น ให้แก่นายอำเภอทราบ นายอำเภอจะจดข้อความดังกล่าวไว้ แล้วให้พยานสองคนลงลายมือชื่อ เป็นอันเสร็จสิ้น
การทำพินัยกรรมด้วยวาจานี้ ถ้าหลังจากทำเสร็จแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายหลังจากนั้น พินัยกรรมก็ใช้บังคับได้ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่ตายสามารถมีชีวิตรอดได้ พินัยกรรมจะยังคงบังคับได้ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ผู้นั้นรอดชีวิตและอยู่ในภาวะที่จะทำพินัยกรรมในแบบอื่นๆได้ ฉบับ


กลับสู่ด้านบน


 

การเพิกถอนพินัยกรรม


การเพิกถอนพินัยกรรม สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะคือ 1.) โดยการทำพินัยกรรมขึ้นใหม่ ซึ่งเมื่อทำขึ้นใหม่แล้วก็เท่ากับเป็นการเพิกถอนฉบับเก่าไปในตัว การทำขึ้นใหม่ไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะเดิมก็ได้ เพียงแต่จะต้องทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องตามกำหมายเท่านั้น หรืออาจจะทำลายพินัยกรรมเดิมนั้นเสียก็ได้ หรือ 2.) โดยการโอนทรัพย์ที่มีทั้งหมดไป ซึ่งการโอนนี้จะเป็นการขาย การให้ หรืออย่างใดๆก็ได้ อันเป็นผลให้ทรัพย์สินตามพินัยกรรมสูญไป ก็เท่ากับเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมไปในตัว ข้อสำคัญ การโอนนี้ต้องเกิดจากความตั้งใจของผู้โอนจริงๆ มิใช่เกิดจากการถูกขู่เข็ญจากบุคคลอื่น


กลับสู่ด้านบน


 

การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท


การแบ่งปันทรัพย์ระหว่างทายาท หากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ก็แบ่งกันตามพินัยกรรม แต่หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และระหว่างทายาทไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องแบ่งในส่วนที่เท่าๆกัน การแบ่งเท่าๆกันนี้เป็นการแบ่งในทรัพย์มรดกที่มีอยู่ หลังจากเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น หากเกิดว่าทายาทคนใดได้ทรัพย์สินมาก่อนที่เจ้ามรดกจะตาย โดยการให้หรือการอย่างอื่น ซึ่งเจ้ามรดกทำให้โดยความเสน่หา ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่นับรวมเข้ามาด้วย ทายาทคนนั้นยังมีส่วนแบ่งเท่าๆกันในทรัพย์สินที่เป็นมรดก
การแบ่งปันทรัพย์นั้น อาจจะทำได้โดยทายาทแต่ละคน ต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดเป็นส่วนก็ได้ หรือจะขายทรัพย์นั้นแล้วเอาเงินมาแบ่งปันกันก็ได้ แต่หากว่าทายาทคนใดเห็นว่าตนไม่ได้รับส่วนแบ่ง หรือได้รับน้อยกว่าคนอื่น ทายาทผู้นั้นก็จะต้องไปฟ้องต่อศาลโดยต้องฟ้องคดีภายในอายุความ หากฟ้องเกินอายุความก็จะหมดสิทธิทันที ดูกำหนดอายุความในหัวข้อต่อไป


กลับสู่ด้านบน


 

อายุความ


อายุความในการฟ้องร้องคดีขอแบ่งมรดก จะมีอายุความ 1 ปี นับแต่รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือ 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หมายความว่าถ้ารู้เมื่อไหร่ก็ตามภายใน 10 ปี ก็ต้องฟ้องขอแบ่งมรดกเสียภายใน 1 ปีนับตั้งแต่ที่รู้ แต่ถ้าไม่รู้เลยว่าเจ้ามรดกตายเป็นเวลาถึง 10 ปี ก็หมดอายุความ
หากเป็นกรณีที่ทายาทยังมิได้แบ่งปันกัน แต่ต่างคนต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินกันเป็นสัดเป็นส่วน อย่างนี้ไม่มีอายุความ ทายาทผู้นั้นสามารถที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกให้ตนได้ตลอด แต่ว่าจะขอแบ่งได้เฉพาะเท่าที่ตนครอบครองเท่านั้น ในส่วนที่ตนไม่ได้ครอบครองก็ต้องอยู่ในอายุความ เท่าที่เจอมาจากการทำคดี ส่วนใหญ่จะอ้างกันในลักษณะนี้คือ เรียกทรัพย์มรดกคืนในส่วนของตน ที่จำเลยได้ครอบครองแทนโจทก์มา กฎหมายเขาอนุญาตให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์มรดก สามารถขอแบ่งมรดกในส่วนที่ตนครอบครองได้โดยไม่มีอายุความ โจทก์ก็อ้างเสียเลยว่าจำเลยนะครอบครองแทนโจทก์ ทั้งๆที่โจทก์ไม่เคยได้เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นเลย ความลำบากก็ตกแก่จำเลยซิ ต้องหาพยานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า จำเลยครอบครองเพื่อจำเลยเอง ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ หากหาไม่ได้ก็แพ้คดี แล้วที่เจอมานะเป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่รับมาก็ตกลงกันได้ พอมาถึงรุ่นลูกเกิดอยากได้ขึ้นมาก็อาศัยวิธีนี้ แล้วจะไปหาพยานที่ไหนมาเล่า พ่อแม่ก็แก่พูดไม่รู้เรื่องแล้วก็มี หรือตายไปแล้วก็มี ฉะนั้น ทางที่ดีควรที่จะทำสัญญากันไว้ด้วยระหว่างทายาทจะเป็นการดีที่สุด หรือไม่เมื่อรับมาแล้วก็จำหน่ายไปซะแล้วไปหาซื้อเอาใหม่ จะได้ไม่มีปัญหากันในรุ่นลูกรุ่นหลาน


กลับสู่ด้านบน

 



กลับหน้าแรก

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่  tanay27@hotmail.com
โฮมเพจนี้เกิดมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543