กู้ยืม l จำนอง l ขายฝาก l ฟ้องขับไล่ l มรดก l คำพิพากษาศาลฎีกา l แนะนำสำนักงานทนายความ
 กระดานคำถาม l ทนายบอร์ด l สมุดเยี่ยม l เวบลิ้งค์ l เพิ่มลิ้งค์ l


การจำนองทรัพย์

การจำนอง เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ผู้ที่ผ่อนบ้านกับธนาคารจะได้รู้จักกับการจำนองเป็นอย่างดี การจำนองก็คือการที่เราเอาทรัพย์สินไปประกันการชำระหนี้นั่นเอง ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้ แต่ก็อาจจะเป็นหนี้อื่นๆได้ คือเรียกว่าถ้ามีหนี้ ก็มีการจำนองได้ แต่ถ้าไม่มีหนี้ก็จำนองไม่ได้ ลักษณะที่สำคัญของการจำนองก็คือ ทรัพย์สินที่จำนองต้องเป็น อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น จะเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ นอกจากนี้การจำนองต้องมีการทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พูดง่ายๆก็คือ ต้องไปทำสัญญาจำนองกันที่สำนักงานที่ดินนั่นเอง จะมาทำกันเองไม่ได้ มิเช่นนั้น จะไม่ถือว่าเป็นการจำนอง อาจจะมีบางคนกู้ยืมเงินกัน แล้วเอาโฉนดไปให้เจ้าหนี้ยืดถือไว้เฉยๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าการจำนอง และก็ไม่เข้าข่ายเป็นการจำนำด้วย แต่ถ้าเจ้าหนี้ท่านใดได้ทำไปในลักษณะนี้ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เป็นการจำนอง หรือจำนำ แต่เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีสัญญากู้อยู่ด้วยนะ


คราวนี้มาดูรายละเอียดปลีกย่อยของการจำนองกันดีกว่า

1. การจำนองต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่า ถ้าคุณจะทำการจำนองนั้น คุณต้องไปทำกันที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น ซึ่งทรัพย์สินที่จะจำนองก็คือ ที่ดิน หรือบ้านพร้อมที่ดิน แต่อาจจะมีทรัพย์สินอื่นที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็อาจสามารถจำนองได้คือ เรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป, แพ, สัตว์พาหนะ, และสังหาริมทรัพย์อื่นๆซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ แต่มีข้อแม้ว่าสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ต้องมีการจดทะเบียนไว้แล้ว

2. ผู้ที่จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น

ถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่จะจำนองแล้ว ก็จำนองไม่ได้ แต่ว่าหนี้ที่เราเอาทรัพย์สินไปจำนอง จะเป็นหนี้ของใครก็ได้ เช่น นาย ก.เป็นผู้กู้ แต่เราเอาทรัพย์สินของเราไปจำนองหนี้ของนาย ก.ได้ อย่างนี้ได้ หรือแม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีคนอื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยก็สามารถจำนองได้ แต่จำนองในเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

3. การจะบังคับจำนอง ต้องฟ้องคดีต่อศาล

การบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะทำการยึดทรัพย์สินที่จำนองเองไม่ได้ จะต้องมีการส่งจดหมายเพื่อบอกกล่าวให้ลูกนี้นำเงินมาชำระหนี้ โดยกำหนดเวลาให้พอสมควรเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่มาชำระ จึงจะฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้วยึดเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนใหญ่การส่งจดหมายบอกกล่าวนั้น ถ้าคุณไปจ้างทนายแล้ว ทนายก็จะดำเนินการให้เองในส่วนนี้ เพราะก่อนฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ส่งจดหมายบอกกล่าวหรือไม่ก็ตาม ทนายก็จะดำเนินส่งให้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพราะลูกหนี้อาจจะนำเงินมาชำระให้เลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องจบลงโดยที่ไม่ต้องฟ้อง เป็นการประหยัดเวลาของทุกฝ่าย

4. ขายทอดตลาดได้เงินเท่าไรก็ชำระหนี้แค่นั้น

อันนี้เป็นข้อกำหนดของกฎหมาย คือว่า ถ้ามีการฟ้องศาลบังคับจำนองกันแล้ว ศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ถ้าขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ได้รับไปแค่นั้น ตัวอย่าง เป็นหนี้กันอยู่หนึ่งแสนบาท แต่ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินมาเพียง แปดหมื่นบาท ส่วนที่ขาดไปอีกสองหมื่นบาท เจ้าหนี้จะไปเรียกจากลูกหนี้อีกไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่า จะได้มีข้อตกลงยกเว้นข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้ในสัญญา ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า สามารถตกลงยกเว้นข้อกำหนดนี้ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งตัวผมเองก็ยังมีความเห็นแย้งในเรื่องนี้อยู่นิดๆ ในลักษณะต่างมุมมอง ซึ่งไม่มีใครผิดใครถูก ส่วนผู้ที่ใช้การยกเว้นข้อกฎหมายข้อนี้มากที่สุดก็คือธนาคาร

5. เจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น

ข้อดีของการจำนองก็คือ หนี้จำนองเป็นหนี้ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ถ้าสมมุติว่าลูกหนี้เป็นหนี้อยู่สามรายคือ นายหนึ่ง, นายสอง, และเรา แต่นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้จากเงินกู้ธรรมดาคือไม่มีการจำนองกันไว้ และนายสองเป็นหนี้จากการซื้อขาย ส่วนเราเป็นเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินจำนองไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากอะไรก็ตาม ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่นายหนึ่ง นายหนึ่งอาจจะฟ้องร้องคดีต่อศาลยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาด รวมทั้งอาจจะยึดทรัพย์ที่จำนองด้วย แต่เมื่อขายทรัพย์ที่จำนองแล้ว เราจะมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายได้ก่อนจนครบถ้วน ถ้ามีเงินเหลือจึงจะเฉลี่ยไปให้นายหนึ่งกับนายสอง





กลับหน้าแรก

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่  tanay27@hotmail.com
โฮมเพจนี้เกิดมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543

[an error occurred while processing this directive]