การปิดหุ่น ว่าด้วยการปิดกระดาษทำหัวโขน การปิดกระดาษทำหัวโขน การปิดกระดาษทับลงบนหุ่นนี้ ช่างบางคนเรียกว่า "พอกหุ่น"ก็มี เรียกว่า "ปิดหุ่น" ก็มี คือการที่เอากระดาษสา กระดาษข่อย และกระดาษฟาง อย่างใดอย่างหนึ่งตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดย่อมกว่าฝ่ามือเล็กน้อย นำมาทาแห้งเปียกให้ทั่วแล้วปิดกระดาษทับซ้อนกันสัก 2-3 แผ่นจึงเอาไปปิดทับลงบนหุ่นเป็นลำดับกันไปจนทั่วหุ่นศีรษะแบบนั้น ๆ ทำเข่นนี้หลาย ๆ ชั้นให้หนาพอที่จะทรงตัวอยู่ได้ในภายหลังที่ถอดศีรษะกระดาษออกจากหุ่น จึงเอาหุ่นที่ปิดกระดาษเรียบร้อยแล้วออกตั้งผึ่งแดดให้แห้งสนิท
หุ่นที่ปิดกระดาษเรียบร้อยแล้วและผ่านกาผุ่งแดดแห้งสนิทแล้วต้องนำมา "ป่วน" หรือ "กวด" คือ การใช้ไม้เสนียดกดถู ขัดกระดาษที่ปิดหุ้มหุ่นนั้นให้เข้ารูปและผิดเรียบ จึงจัดการถอดศีรษะกระดาษออกจากหุ่น
การถอดหุ่น คือ การเอาศีรษะกระดาษออกจาหุ่นซึ่งทำโดยการใช้มีดปลายแหลมกรีดตรงศีรษะกระดาษจากตอนบนให้ขาดเป็นทางลงไปทางด้านหลังจนสุดขอบกระดาษตอน่ล่าง จึงถอดศีรษะกระดาษออกจากหุ่น
ศีรษะกระดาษซึ่งถอดจากหุ่นแล้วต้องจัดการเย็บประสานริมกระดาษที่ขาดเป็นแนวนั้นให้ติดกันสนิท แล้วปิดกระดาษทับแนวทั้งด้านนอกและด้านในให้เรียบ จึงตัดริมส่วนขอบล่างของศีรษะกระดาษนั้นให้เรียบร้อย พอเสร็จการขั้นนี้ก็จะได้ศีรษะกระดาษที่ เรียกว่า "กะโหลก" พร้อมที่จะนำมาปั้นกระแหนะรักทำส่วนละเอียดต่าง ๆ ต่อไป

การปั้นใบหน้าหัวโขน หรือกระแหนะ เป็นขั้นตอนทำส่วนละเอียดต่าง ๆ คือ การใช้รักตีลายทำให้อ่อนตัวนำมาปั้นกระแหนะเพิ่มเติมลงบนกะโหลก ทำส่วน คิ้ว ตา จมูก ปาก ไพรปาก ขอบคาง ให้ได้รูปร่างชัดเจนและแสดงอารมณ์ของใบหน้านั้นตามขนบนิยมใบหน้าแต่ละแบบนั้นส่วนหนึ่ง กับทำการประดับลวดลายตกแต่งลงบนตำแหน่งที่เป็นเครืร่องศิราภรณ์สำหรับหัวโขนแต่ละหัว เช่น ประดับส่วนเกี้ยวรักร้อย ประดับกระจังซุ้มบนวงล้อมจอมชฎาและมงกุฎ เป็นต้น และในขั้นนี้จะต้องจัดทำส่วนหูสำหรับศีรษะยักษ์ ลิง พระ และนางแบบที่ปิดหน้า เป็นต้น กับทำกรรเจียกจอนหูสำหรับประกอบชฎาและมงกุฎ ด้วยการใช้แผ่หนังวัวแห้งนำมาตัด สลักฉลุทำเป็นลวดลายโกลน ๆ ขึ้นก่อนจึงปั้นรักตีลาย
ปั้นรักตีลาย ใช้รักตีลายตีพิมพ์เป็นลวดลายละเอียดติดประดับให้ครบถ้วยตามแบบที่เป็นขนบนิยม ติดประทับให้ตรงตามตำแหน่งบนกะโหลกที่ได้ปั้นหน้าติดลวดลายประดับไว้พร้อมอยู่แล้ว ก็จะสำเร็จเป็นหัวโขนหรือศีรษะขั้นหนึ่ง
การลงรักปิดทอง เป็นงานตกแต่งหัวโขนให้สวยงาม งานขั้นนี้คือ การใช้น้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งต้องการทำให้ทองคำโดยทารักสัก 2-3 ทับซึ่งแต่ละทับหรือครั้งต้องปล่อยให้รักที่ได้ทาไว้คราวหนึ่ง ๆ แห้งสนิทและเรียบเนียนทุกครั้งไป จนขั้นสุดท้ายทาด้วยรักน้ำเกลี้ยงแต่บาง ๆ จึงนำทองคำเปลวมาปิดทับบนพื้นที่ ๆ ได้ทารักไว้นั้นจนทั่ว
การประดับกระจกหรือพลอยกระจก เป็นการตกแต่งส่วนละเอียดให้มีขึ้นในลวดลาย โดยเฉพาะที่ไส้ตัวกระจัง ไส้กระหนก ไส้ใบเทศ เป็นต้น ให้เกิดเป็นประกายแวววาวเมื่อรับแสงเมื่อรับแสงสว่าง ทำให้ดูคล้ายประดับด้วยอัญมณี ขั้นตอนนี้เรียกว่า "กระจกเกรียบ" ปัจจุบันกระจกนี้หาได้ไม่ง่ายนัก ช่างเลยใช้พลอยกระจกประดับลงเป็นไส้ลวดลายแทน การประดับกระจกก็ดี ประดับพลอยกระจกก็ดี ทำให้ติดกับตัวลายต่าง ๆ ที่ปิดทองคำเปลวไว้แล้วนั้นได้ด้วยการใช้ "เทือกรัก" ทาบาง ๆ ลงตรงตำแหน่งที่จะประดับจกหรือพลอยนั้น
การระบายสีและเขียนส่วนละเอียด เป็นกระบวนการทำหัวโขนขั้นหลังที่สุด โดยก่อนที่จะระบายสีและเขียนส่วนละเอียดบนใบหน้าของหัวโขน ต้องใช้กระดาษปิดทับเนื้อที่ในวงหน้าทั้งหมดให้ทั่วเสียชั้นหนึ่งก่อน ปิดกระดาษให้ผิวเรียบเป็นพิเศษ แล้วผึ่งให้แห้งสนิทจึงระบายสีและเขียนสีต่อไป สีที่ใช้ระบายสีหัวโขน ช่างตามขนบนิยม มักใช้สีฝุ่นผสมกาวกระถินหรือมะขวิด โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งผสมน้ำ เรียกว่า "สีน้ำกาว" บ้าง "สีฝุ่น" บ้าง สีชนิดนี้มีคุณลักษณะสดใส นุ่มนวลไม่สะท้อนแสง
อนึ่ง การเขียนเส้นแสดงส่วนละเอียดบนใบหน้าของหัวโขนแต่ละหัว ๆ นั้นเป็นเส้นที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษเรียกว่า "เส้นฮ่อ" ประกอบด้วยเส้น 4 สี ชมพู แดง ลิ้นจี่ และทอง การเขียนจะเขียนเส้นชมพูก่อน แล้วเขียนเส้นสีแดงทับเส้นสีชมพูครึ่งหนึ่ง โดยให้เส้นสีแดงอยู่ด้านใน(ชิดกับเส้นไพร) แล้วเขียนด้วยเส้นสีลิ้นจี่ทับเส้นสีแดงครึ่งหนึ่ง จะได้เป็นเส้นฮ่อ 3 สี คือ ลิ้นจี่ แดง ชมพู
เส้นไพรโบราณกำหนดไว้ 2 สี คือ เขียว-ฟ้า โดยหัวโขนสีเขียวจะใช้เส้นไพรสีฟ้า ถ้าเป็นหัวโขนสีอื่นใช้เส้นไพรสีเขียว เห็นเพียงแต่หัวอินทรชิตในพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร หัวเดียวที่เป็นหน้าเขียวแต่ใช้เส้นไพรสีแดง
หัวโขนบางหัวนิยมใช้เปลือกหอยมุกมาตัดเป็นชิ้นเล็กติดเรียงเป็ฟันหรือใช้ขื่อหอยมุกมาทำเป็นเขี้ยวติดประดับวงในริมฝีปากของหัวโขนยักษ์และลิงก็มี ซึ่งช่วยให้สวยงามเพิ่มขึ้น
หัวโขนแต่ละหัวเมื่อได้เจาะรูทั้งคู่ตรงดวงตาสำหรับให้ผู้สวมหัวโขนแลดูออกมาได้แล้วนั้น ถือว่าเป็นหัวโขนที่สำเร็จสมบูรณ์ตามขั้นตอนดังอธิบายมาข้างต้น

Top
สีและสีหน้า
Copyright March 2003. All Right Reserved. Contact US E-mail : Tula1407@hotmail.com